ที่สำนักงานเขตบางรัก “อดีตนายกฯ แม้ว” ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานงานจดทะเบียนสมรสระหว่างนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และนายสุไพรพล ช่วยชู คู่รัก โอกาสนี้ สื่อได้สอบถามอดีตนายกฯ แม้วหลายเรื่อง เช่น ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าผลไม่เข้าเป้าตามที่คาดหวังไว้ และชื่อ “ทักษิณ” อาจจะเสื่อมมนต์ขลัง อดีตนายกฯ ตอบพร้อมหัวเราะว่า “ผมแก่แล้ว อายุ 76 ปีแล้ว คนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี มักจะจำผลงานไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่สักพักคนจะเข้าใจมากขึ้น พรรคเพื่อไทยก็ชนะมาหลายเขต ที่ผิดคาดมีอยู่ 3 เขต โดย 2 เขตเกิดจากความไม่สามัคคีกันของ สส. อีก 1 เขตนั้น เกิดจากความประมาทของผู้สมัคร ถือว่าไม่ได้ผิดเป้ามากมาย คงไม่ต้องบอกว่าเป็นเขตไหน พูดแค่นี้เจ้าตัวก็สะดุ้งหมดแล้ว”
อดีตนายกฯ แม้วเชื่อว่า การเลือกตั้ง สส.ครั้งหน้า เพื่อไทยอย่างแย่ๆ คงได้ 200 คนขึ้น และไม่อยากเป็นรัฐบาลพรรคเดียวแล้ว เพราะนกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ไม่ดี ต้องมีเพื่อน แต่เยอะมากก็ไม่ดี ปวดหัว

ในฐานะพ่อ ก็ได้คุยกับ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งอดีตนายกฯ แม้วเล่าให้ฟังว่า “นายกฯ บอกว่าทุกวันนี้ใน ครม.ทำงานร่วมกัน ไม่มีปัญหา อาจมีขัดข้องบางกระทรวงที่ทำงานช้า หรือไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไร แต่ยังอยู่ในภาวะที่คุยกันได้ จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับ ครม. และคิดว่าหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่น่าจะมีอะไร”
และไม่มีข่าวว่าจะเอาเก้าอี้กระทรวงพลังงานคืนจาก “หัวหน้าตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยังทำงานร่วมกันได้ดีอยู่ บางครั้งประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ที่นายกฯ เป็นประธาน นายกฯ ก็มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ทำหน้าที่ประธานแทน ไม่มีปัญหาอะไร เท่าที่นายกฯ บอก คือ ครม.ยังทำงานร่วมกันได้ มีบางที่ช้าไปหน่อย ก็คงต้องจี้กันกระตุ้นกัน แต่ยังอยู่ในภาวะที่กระตุ้นกันได้อยู่
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สำหรับตัวนายทักษิณเห็นว่าควรจะเปลี่ยนหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า “แน่นอนครับ บางอันเราต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด และฉับไว แต่บางครั้งจะเจอนักรำวงบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ชอบและพยายามบอกว่าอย่ารำวงมาก ก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร เพราะในการบริหารเป็นนักรำวง มันเป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้ แต่ผมไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรเพราะเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายกฯ ผมมีหน้าที่ให้คำปรึกษาถ้าต้องการอาจจะปรึกษาได้ ในแบบคำของมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่แปลคำว่า “Advisor” ว่า “No so much obay“ ที่หมายถึงไม่ต้องเชื่อฟังมากก็ได้”

นายทักษิณในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางไปประชุมร่วมกับอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 2-3 ก.พ.ว่า ประธานอาเซียนขอให้ช่วย 2-3 เรื่อง ซึ่งเรื่องแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเราคือเรื่องประเทศเมียนมา เพราะการสู้รบในเมียนมาทำให้อาเซียนถูกลดความสำคัญลงไปเยอะ ประธานอาเซียนไม่อยากให้ประเทศในอาเซียนมีการปกครองที่ผิดปกติ จึงอยากให้ตนคุยกับทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ และในอาเซียนตนก็รู้จักเป็นส่วนใหญ่ ต้องหาเวลาเดินทางไปพบกับผู้นำทุกฝ่ายเพื่อพูดคุยกันต่อไป
นายทักษิณ กล่าวต่อว่า เรื่องที่สองคือเรื่องที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เริ่มคริปโตเคอร์เรนซีในสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่หากประเทศอาเซียนไม่ขยับ เราก็จะเสียเปรียบ จึงอยากให้ตนซึ่งสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษได้ทำข้อเสนอแนะให้อาเซียน โดยประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะเป็นสามประเทศหลักที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ และพูดคุยปัญหาภาคใต้ว่าเราจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร ให้เบาบางหรือจบลงเร็วที่สุด
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระแก้ ม.256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 13-14 ก.พ. นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่ทราบว่า สว.แต่ละคนมีความเห็นอย่างไร แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่น มาตรา 256 สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มหมวดใหม่เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการจัดทำใหม่นั้นเท่ากับยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“คงห้ามไม่ได้ที่จะมีการโจมตี สว.หากไม่เห็นด้วยต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สว.ไม่เคยขัดขวางต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นควรต้องยึดกฎหมายและเคารพมติของประชาชน โดยการสอบถามประชาชนก่อนว่าจะยอมให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเห็นว่าการเพิ่มหมวดใหม่ 15/1 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่ชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564”
วันเดียวกัน ที่ทำการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ย่านดอนเมือง มีการประชุมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นเจ้าภาพ แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านมากันพร้อมเพรียง พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปฝ่ายค้าน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ สส.พังงา รองหัวหน้าพรรค นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร รองหัวหน้าพรรค

“บิ๊กตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เข้าร่วมงานด้วย อีกทั้งการจัดโต๊ะแถลงข่าวในวันนี้ยังปรากฏชื่อพรรคเสรีรวมไทยซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมในพรรคฝ่ายค้านร่วมแถลงข่าว ขณะเดียวกันไม่มีป้ายชื่อของพรรคไทยก้าวหน้า ที่ “สส.ปูอัด” ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. เป็น สส.เพียงคนเดียว ซึ่งขณะนี้เจ้าตัวโดนหมายจับศาลเชียงใหม่เกี่ยวกับคดีข่มขืนนักท่องเที่ยว เบื้องต้นส่งไลน์แจ้งผู้สื่อข่าวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและพร้อมสู้ และตั้งข้อสังเกตเรื่องการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ออกหมายเรียกก่อน
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ยื่นหนังสือต่อ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีพรรคมีพวก เมื่อเดือน มี.ค. จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเดินทางนำข้อมูลของนายทักษิณที่ไปนอนเล่น ชั้น 14 รพ.ตร. มาให้ อีกไม่กี่วันจะพา ป.ป.ช.ไปดูสถานที่ชั้น 14 ขอโรงพยาบาลอย่าย้ายข้าวของ หรืออย่าทำลายหลักฐาน แม้จะย้ายของย้ายได้ แต่ย้ายห้องไม่ได้

“หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ทสท. กล่าวว่า นัดนี้ถือเป็นการหารือเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ทสท.สนใจอภิปรายเรื่องการพนันออนไลน์ และกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ซ่อนบ่อนกาสิโนไว้ ซึ่งถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เรามีหลักฐานเชิงลึกและเชิงประจักษ์ให้เห็นกันดีว่าใครจะได้ประโยชน์บ้าง อาจจะทำให้คนไทยติดการพนันงอมแงม เหตุผลที่ค้านเพราะเราไม่สามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดได้

“หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แถลงหลังหารือว่า ที่ประชุมได้กรอบระยะเวลาการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อสภาเรียบร้อยแล้ว วันที่เหมาะสมจะยื่นญัตติคือ 27 ก.พ. เบื้องต้นจะขอกรอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 วัน มีหลายประเด็นหารือร่วมกัน และพบว่า รัฐบาลชุดนี้บริหารราชการแผ่นดินขาดประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยปัญหาสังคมในหลายๆ เรื่อง มีประเด็นที่ส่อเค้าว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน การบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชุมไม่ได้พุ่งเป้าคนใดคนหนึ่ง แต่ยึดตามข้อเท็จจริงหากมีข้อมูล
“เป้าหมายสูงสุดของการอภิปราย ต้องการตีแผ่ความจริงให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ขาดความชอบธรรมอย่างไร รวมถึงขาดความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อมั่นข้อมูลอภิปรายครั้งนี้อาจจะส่งผลสะเทือนทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมได้”
การเมืองต่อจากนี้คงเดือด เกมปรับ ครม. อภิปรายไม่ไว้วางใจ และแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแบบจัดเต็ม.
“ทีมข่าวการเมือง”