สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรีเมียนมา ให้การต้อนรับนายบิล ริชาร์ดสัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ที่ทำเนียบ ในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหรัฐแก่เมียนมา เพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่เปิดเผยในแถลงการณ์ของกระทรวงข่าวสารเมียนมา

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ริชาร์ดสันเจรจากับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เรื่องนายแดเนียล เฟนสเทอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำอินเส่ง ในเมืองย่างกุ้ง ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเฟนสเทอร์ถูกฟ้องในข้อหาปลุกระดมและร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งหากศาลพิพากษาว่าผิดจริง ต้องรับโทษจำคุกนานไม่ต่ำกว่า 2 ปี
Former US diplomat Bill Richardson met with junta leader Min Aung Hlaing on Tuesday in Naypyitaw. The military-owned Myawady channel reported that the two discussed the prevention and control of COVID-19 in Myanmar and the delivery of vaccines.#WhatsHappeningInMyanmar pic.twitter.com/kbIM2HYkDK
— The Irrawaddy (Eng) (@IrrawaddyNews) November 2, 2021
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยืนยันว่า ริชาร์ดสันวางแผนการเยือนเมียนมาครั้งนี้ “ด้วยตัวเอง” ทั้งที่รัฐบาลวอชิงตันและประเทศตะวันตกอีกหลายแห่งยังคงหลีกเลี่ยงการส่งเจ้าหน้าที่รัฐเยือนเมียนมา เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการตีความว่า คือการยอมรับรัฐบาลทหารของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
Detained U.S. journalist Daniel Fenster says he’s fine, his lawyer says as Fenster’s case on incitement charges was adjourned in a Myanmar court to July 15 https://t.co/0eb0FAdnDy
— Reuters Legal (@ReutersLegal) July 1, 2021
ทั้งนี้ ริชาร์ดสันมีประวัติการเยือนหลายประเทศที่ความสัมพันธ์ไม่ดีนักกับสหรัฐ และสามารถช่วยเหลือชาวอเมริกันซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่นั่นได้แล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือหรือเวเนซุเอลา นอกจากนี้ ริชาร์ดสันยังเคยพบกับซูจี สมัยที่เธอยังถูกกักบริเวณในยุคนายพลซอ หม่อง เมื่อปี 2532
ในอีกด้านหนึ่ง พล.อ.ซอ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ย้ำว่า ผู้แทนพิเศษของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) จะไม่มีทางได้รับอนุญาตให้พบกับซูจี เนื่องจากเธอเป็นจำเลยในหลายข้อหา และคดีความอยู่ในขั้นตอนของการไต่สวน.
เครดิตภาพ : AP