เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” หรือ อดีต ผอ.สำนักอุทยาน ได้โพสต์ข้อมูลน่าเศร้าใจ เมื่อพะยูนในประเทศไทยเกยตื้นตายถึง 29 ตัว ในระยะเพียง 3 เดือนเท่านั้น  พร้อมจี้ถามวันนี้คุ้มครองสัตว์ป่าอะไรได้บ้าง?

โดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ระบุข้อความว่า “อีกไม่กี่วัน “พะยูน” สูญพันธุ์แน่ วันนี้เราคุ้มครองสัตว์ป่าอะไรได้บ้าง ปีงบประมาณ 2568 แค่ 3 เดือน ไม่นับมกราคม 2568 พะยูนตายไป 29 ตัว “พะยูน” ตายเฉลี่ยไม่น้อยกว่า เดือนละ 9 ตัว เพราะสาเหตุ โลกรวน กระแสน้ำอุ่นใต้ทะเล ไหลเปลี่ยนทิศ แหล่งหญ้าทะเลลดลง ไม่มีหญ้าทะเลให้กิน การออกหากินของพะยูน ต้องเดินทางออกหาอาหารไกลออกไป ยิ่งไกลก็โดนล่า โดนใบพัดเรือตายอย่างอนาถ”

สำหรับ “พะยูน” ชาวบ้านชาวเลเรียก “ช้างน้ำ” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อนาคตช้างป่าก็คงไม่ต่างกัน กับ “พะยูน” ในวันนี้ แผนงานที่กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำลังทำอยู่ตามคำสั่งการของ รมว.ทส.

โดยเรื่อง รายงานการดำเนินการแก้ไข วิกฤติ “พะยูน” ของ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ “พะยูน” ทส. สัปดาห์ที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 68 (วันที่ 1-7 ก.พ. 2568)
นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งแก้ไขวิกฤติ “พะยูน” อย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการดำเนินการแก้ไขเป็นกรณีเร่งด่วน หน่วยงาน อส. และ ทช. ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการดังกล่าว ดังนี้
1. สำรวจจำนวนประชากร ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติ โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) บินสำรวจ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยและเส้นทางหากินหญ้าทะเลของพะยูน

2. ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ทราบถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้เลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเล และพื้นที่เสี่ยงต่อการอพยพถิ่นอาศัยของพะยูน โดยให้ชะลอความเร็วเรือตามเขตแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือที่ติดตั้งไว้

3. กำหนดแผนช่วยเหลือพะยูนที่อ่อนแอ โดยการจัดตั้งทีมอาสา และชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังคุ้มครองพะยูน และจัดเตรียมทีมสัตวแพทย์ และชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง บริเวณ 7 พื้นที่ ได้แก่ ระนอง พังงาตะวันตก อ่าวพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล หากพบการเกยตื้น ทีมเคลื่อนที่เร็วชุดนี้ จะเข้าปฐมพยาบาลโดยทันที

4. วางแปลงอาหารเสริมให้กับพะยูน โดยใช้หญ้าตะกานน้ำเค็มและสาหร่ายผมนาง และวางมุ้งหรือจัดทำคอก หรือกันแนวเขตหญ้าทะเล เพื่อฟื้นฟูและติดตามการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล พร้อมทั้งเพาะเมล็ดหญ้าทะเล (หญ้าชะเงาเต่า) เพื่อใช้สำหรับการขยายพันธุ์ บริเวณหาดบางขวัญ จังหวัดพังงา

อย่างไรก็ตาม “ขณะนี้กำลังจัดตั้งหน่วยอนุรักษ์พะยูน เป็นคำสั่งกระทรวงฯ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาครอบคลุมพื้นที่ ทั้งในและนอกเขตอุทยานฯ” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร