เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามกรอบเวลา 50 วัน ว่า น่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือน มี.ค. ซึ่งเราพยายามทำให้เร็ว โดยในการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะอยู่ในกรอบ 50 วัน ที่กำหนดไว้
เมื่อถามว่า ตอนนี้เหลือขั้นตอนอะไรบ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้เราปรับร่างฯ แล้ว ซึ่งเรียกว่าวาระที่ 2 โดยมีการปรับในรายละเอียด แต่รอบแรกพิจารณาในหลักการไปแล้ว ซึ่งตอนนี้มีการปรับร่างฯ ไปเยอะแล้ว และได้นำเข้าคณะกรรมการไปแล้ว โดยตอนนี้เห็นหน้าตาเป็นกรอบค่อนข้างชัดเจนแล้ว เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนจากร่างเดิมมากหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ก็เยอะอยู่ เมื่อถามอีกว่า มีการปรับในสาระสำคัญหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม คล้ายๆ เดิม
เมื่อถามว่า ในร่างฯ ที่ปรับใหม่ ได้มีการระบุชัดเจนว่ากาสิโนจะต้องมีกี่เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นคิดว่าควรจะมีการกำหนดไว้ แต่ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่คิดว่าควรต้องกำหนด เมื่อถามว่า จะต้องนำต่างประเทศมาเปรียบเทียบหรือไม่ เช่น ในประเทศสิงคโปร์ นายปกรณ์ กล่าวว่า แล้วแต่นโยบาย เนื่องจากไม่เหมือนกัน ต้องอยู่ที่นโยบายว่าจะเอาเท่าไหร่ เมื่อถามต่อว่า สัดส่วนกาสิโนอยู่ระหว่างเท่าใด นายปกรณ์ กล่าวว่า ก็ต้องไม่เกิน 10% เมื่อถามย้ำว่า เป็นการเปิดช่องไว้ให้สามารถลดสัดส่วน เป็น 5 หรือ 8% ได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถูกครับ มันจะเป็นฟิลลิ่ง ถ้าจะน้อยกว่า 10 ก็แล้วแต่สถานการณ์ที่เขาจะพิจารณา
เมื่อถามว่า จะใช้เกณฑ์อะไรในการปรับว่าสัดส่วนจะเป็นเท่าใด นายปกรณ์ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการนโยบายที่จะพิจารณา ตนคิดว่าเขาคงจะต้องพิจารณาในแง่ของการลงทุนด้วย เพราะว่ามีการระบุไว้แล้วว่า การลงทุนต้อง 100,000 ล้าน และค่าใบอนุญาต อีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องแล้วแต่คณะกรรมการ ต้องดูแผนที่นักลงทุนเสนอเข้ามา
เมื่อถามว่า ก่อนที่จะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ปกติเราทำเสร็จแล้ว เราก็เปิดเผยอยู่แล้ว ไม่ได้ปกปิดอะไร ซึ่งปกติกฤษฎีกาจะนำไปลงเว็บไซต์ระบบ กฎหมายกลางอยู่แล้ว เมื่อถามว่า ถ้าประชาชนจะมีความคิดเห็นในเรื่องนี้จะสื่อไปถึงกฤษฎีกาเพื่อทบทวนร่างกฎหมายได้อย่างไร นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เราทำตามนโยบายของรัฐบาล ตนเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นเท่ากับฝ่ายข้าราชการประจำทำตัวเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง ซึ่งมันจะผิดหลัก ส่วนที่พยายามเรียกร้องกันนั้น ตนเข้าใจดีถึงความสนใจในเรื่องนี้ของทุกภาคส่วน รวมถึงความห่วงใย แต่ต้องเข้าใจเรื่องระบบในการทำงานด้วยว่าฝ่ายข้าราชการประจำจะไปทำตัวเป็นฝ่ายบริหารเสียเองมันไม่ถูกเรื่อง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องนโยบายก็อยู่ที่ทางรัฐบาลจะพิจารณา ไม่ใช่มากดดันที่กฤษฎีกา ว่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ ตนไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรขนาดนั้น
เมื่อถามว่า ถ้าจะทำประชามติ ต้องให้รัฐบาลเป็นฝ่ายดำเนินการใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ใช่ครับ มันอยู่ที่รัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่ตนเลย และที่ผ่านมาก็ยืนยันมาโดยตลอดในการตรวจพิจารณาทุกร่างกฎหมาย เมื่อถามถึงข้อกังวลของนักวิชาการเนื่องจากร่างกฎหมาย มีการระบุว่าสำนักงานสามารถหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้ก่อนเหลือเท่าใดจึงค่อยนำส่งเป็นเงินแผ่นดิน นายปกรณ์ กล่าวว่า ด้วยหลักของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ภาษีต้องเข้ารัฐ ต่อข้อถามว่า หมายความว่า สำนักงานเองสามารถหักค่าใช้จ่าย เหลือเท่าไหร่ค่อยนำส่งเป็นเงินแผ่นดินใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียม และค่าบริการ ซึ่งเรื่องค่าธรรมเนียมหรือใบอนุญาตต่างๆ โดยหลักแล้วมันต้องเข้าหลวง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการเงินการคลัง ส่วนมากจะหักไม่ได้เท่าไหร่ เอามาเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ตรงนี้เป็นแนวปฏิบัติทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นความตกลงของกระทรวงการคลัง
แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กรอบระยะเวลา 50 วันของการร่างกฎหมาย จะครบกำหนดในวันที่ 6 มี.ค. นี้