เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 6 ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2567 จำนวน 180 ประเทศทั่วโลกนั้น อันดับ 1 คือ ประเทศเดนมาร์ก ได้คะแนนสูงที่สุด 90 คะแนน อันดับ 2 คือ ประเทศฟินแลนด์ ได้ 88 คะแนน อันดับ 3 คือ ประเทศสิงคโปร์ ได้ 84 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มอาเซียนคือประเทศสิงคโปร์ ได้ 84
นายศรชัย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยในปี 2567 ประเมินจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง โดยประเทศ ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 5 แหล่ง คือการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากเพียงใด (BF (TI)) เพิ่มขึ้นจาก 33 คะแนนในปี 2566 เป็น 34 คะแนน, มีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด (PRS) เพิ่มขึ้นจาก 32 คะแนนในปี 2566 เป็น 33 คะแนน, การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการเกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวมมากน้อยเพียงใด (V-DEM) เพิ่มขึ้นจาก 26 คะแนนในปี 2566 เป็น 29 คะแนน, ระดับการรับรู้ว่ากรทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองมากน้อยเพียงใด (PERC) เพิ่มขึ้นจาก 37 คะแนนในปี 2566 เป็น 41 คะแนน และเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอยมากน้อยเพียงใด (WJP) เพิ่มขึ้นจาก 33 คะแนน ในปี 2566 เป็น 34 คะแนน

ส่วนที่ได้คะแนนลดลง 4 แหล่ง คือ การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด (IMD) ลดลงจาก 43 คะแนนในปี 2566 เป็น 36 คะแนน, ภาคธุรกิจต้องการจ่ายสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด (WEF) ลดลงจาก 36 คะแนนในปี 2566 เป็น 34 คะแนน, ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (EIU) ลดลงจาก 37 คะแนนในปี 2566 เป็น 35 คะแนน, และการดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด (GI) ลดลงจาก 35 คะแนนในปี 2566 เป็น 32 คะแนน
นายศรชัย กล่าวว่า คะแนนที่เพิ่มขึ้น มีการวิเคราะห์ว่าเนื่องจากมุมมองของผู้ประเมิน มองว่าภาครัฐได้แสดงออกอย่างชัดเจนเคร่งครัดเอาจริงในการบังคับใช้กฎหมาย ลดปัญหาการติดสินบนเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความโปร่งใสร่วมแก้ปัญหากับหน่วนงานต่างๆ อย่างตั้งใจจริง ซึ่งเป็นส่วนที่ ป.ป.ช. ขับเคลื่อน และมีทิศทางดีขึ้นต้องพยายามต่อไปทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ส่วนแหล่งที่ลดลงนั้น น่าจะมาจากมุมมองของผู้ประเมินในเรื่องเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นการใช้งบประมาณขาดประสิทธิภาพทำประเทศเสียหาย มีกรณีสำคัญเช่นนโยบายประชานิยม นำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล ใช้จ่ายไม่สมเหตุสมผล ขาดความคุ้มค่าส่งผลให้ทรัพยากรรัฐ ไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลต่อการบริหารจัดการภาครัฐ ส่งผลกระทบด้านธรรมาภิบาลของประเทศ นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจในไทย ยังเห็นว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ต้องเผชิญกับการเรียกรับเงินและจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ แม้รัฐบาลจะตั้งใจแก้ไขปัญหาทุจริตหลายมาตรการ แต่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ตอบแบบสอบถามยังไม่มีความเชื่อมั่น ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมทำให้เกิดการรับรู้ในเชิงลบ ขณะที่มุมมองผู้ประเมินอาจเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตไม่เพียงพอ จากข่าวต่างๆ เช่น การสร้างความเสียหายให้ประชาชนวงกว้างมีข้าราชการนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง กับการกระทำความผิด และยังไม่มีกลไกตรวจสอบดำเนินคดีลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทุจริตอย่างรวดเร็ว นโยบายความเสียหาย การดำเนินนโยบายอาจเอื้อประโยชน์ให้นายทุน หรือกลุ่มขนาดใหญ่ หรือบางนโยบายอาจเอื้อให้กลุ่มนายทุนหรือบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งมีข่าวแต่งตั้งโยกย้าย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรม

นายศรชัย กล่าวอีกว่า การยกระดับค่า CPI ของไทยผู้นำประเทศและรัฐบาล ต้องแสดงเจตจำนงในการแก้ไข ปัญหาทุจริต สร้างความร่วมมือขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐเอกชนและภาคประชาคม โดย CPI เห็นว่าต้องไม่ปล่อยให้มีการแทรกแซงหรือมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายระดับชาติระดับนานาชาติ ต้องสร้างความโปร่งใสและสภาพแวดล้อมที่ดีในการดำเนินนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ
สำหรับกรณีที่อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณปี 2569 ป.ป.ช. จะร่วมตรวจสอบให้เข้มข้นหรือไม่ นายศรชัย กล่าวว่า ในปี 2568 มีหน่วยงานต่างๆ ของงบ 39 หน่วยงาน ที่จะส่งเสริมป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้ 953 ล้านบาท ซึ่ง ป.ป.ช. เองร่วมขับเคลื่อนกับหน่วยงานเหล่านี้ และติดตามตรวจสอบกำกับ การใช้จ่ายงบประมาณเหล่านี้ เพื่อให้เกิดผลต่อค่า CPI ขณะที่ ป.ป.ช. ได้ลงพื้นที่ดึงหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันเพื่อลดประเด็นรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ และจะดำเนินการให้เข้มข้นขึ้น
เมื่อถามว่า ค่า CPI ที่ลดลง ทำให้ ป.ป.ช. ต้องเร่งทำงานมากขึ้นหรือไม่นั้น นายศรชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน รัฐบาล พรรคการเมืองและภาค ประชาสังคม จะต้องแสดงเจตจำนงชัดเจน ในเรื่องการปราบปรามทุจริต ต้องเอาจริงเอาจัง ซึ่งเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจนต่อต้านการทุจริตองคาพยพต่างๆ พร้อมจะเดินตาม ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. จะมีความเข้มข้นในการตรวจสอบเพื่อลดปัญหาทุจริตและยกค่า CPI ให้เข้มข้น เราเข้มข้นอยู่และพร้อมดำเนินการ.