สตีเวน วิลเลียมส์ แพทย์โรคหัวใจจากสถาบันเอ็นวายยู แลงกอน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า การใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยขยับตัว เช่น การนั่งทำงานทั้งวันนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ แม้จะเปลี่ยนไปใช้โต๊ะทำงานแบบที่ต้องยืนทำงานแทนการนั่งก็ช่วยอะไรไม่ได้
“ผมไม่ประทับใจเลย เวลามีพนักงานมาที่ออฟฟิศและบอกว่าพวกเขาใช้ชีวิตแบบ ‘แอ็คทีฟ’ เพราะได้ยืนทำงานทั้งวัน” วิลเลียมส์กล่าว “คุณอาจไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายในระดับที่เป็นไปตามความหมายของการทำ ‘กิจกรรมทางกาย'”
วิลเลียมส์กล่าวว่า “การเคลื่อนไหว” คือหัวใจสำคัญ กิจกรรมทางกายมีประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ และลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งลดภาวะซึมเศร้าได้
การนั่งนานเกินไปมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เบาหวาน น้ำหนักเกิน ภาวะซึมเศร้า และแม้แต่โรคมะเร็งบางชนิด ในความเป็นจริง มีกรณีศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ 8,000 คนพบว่า การนั่งนานเกินไปมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยทำให้มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น
“การใช้ชีวิตแบบอยู่นิ่งๆ ทั้งวันในปัจจุบันถือว่าเป็น ‘วิถีชีวิตแบบนักสูบบุหรี่รูปแบบใหม่’” วิลเลียมส์กล่าว “มันแย่ประมาณนั้นเลย”
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวว่า โต๊ะทำงานแบบยืนซึ่งโฆษณาว่า เป็นทางออกสำหรับการใช้ชีวิตแบบนั่งทั้งวันนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีเยี่ยม แม้ว่าจะช่วยให้คุณเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้นก็ตาม
“ผลเสียต่อสุขภาพจากการใช้ชีวิตที่อยู่นิ่ง ๆ นานกว่า 60-90 นาทีนั้น หมายรวมถึงทุกท่วงท่า รวมทั้งการยืน” เบน กรีนฟิลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบพันธุกรรมและสุขภาพ ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟิตเนสกล่าวระหว่างพูดคุยในรายการพอดแคสต์ “Optimize Yourself”
ดังนั้น แทนที่จะมุ่งเน้นแค่การยืนทำงาน วิลเลียมส์กล่าวว่า การทำให้ร่างกายของคุณเคลื่อนไหวต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ “หากคุณไปพบแพทย์แล้วและได้รับคำแนะนำว่าไม่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย การมีกิจกรรมทางกายทุกวันถือเป็นสิ่งสำคัญ”
วิลเลียมส์เน้นย้ำว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในฟิตเนสหรือออกวิ่งเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อปรับปรุงสุขภาพ เขากล่าวว่า การเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจครั้งละ 10-15 นาที รวมทั้งหมดให้ได้วันละ 30 นาที จะมีประโยชน์มาก
นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจยังกล่าวว่า ถ้าหากเรามีวิถีชีวิตแบบที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายตลอดทั้งวัน แค่การออกไปเดินเล่นก็มีประโยชน์ เขายังชี้ว่า สมาคมโรคหัวใจอเมริกันแนะนำว่า ควรทำกิจกรรมทางกายที่มีระดับความหนักเล็กน้อย เช่น การเดินในอัตราความเร็ว 2.5 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งอาจใช้วิธีวัดจากสมาร์ตวอตช์ได้
“อีกวิธีหนึ่งในการวัดระดับความหนักคือการตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจของคุณระหว่างทำกิจกรรม และดูให้แน่ใจว่ามันอยู่ในอัตรา 50-70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ซึ่งคำนวณได้โดยการนำตัวเลขอายุของคุณลบออกจาก 220” วิลเลียมส์แนะนำ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังแนะนำว่า ควรลุกจากโต๊ะทำงานและเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ 30 นาทีเพื่อรักษาสุขภาพที่ดีและป้องกันผลเสียจากการนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน
ที่มา : nypost.com