เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เป็นวันที่ 2 ล่ม ว่า เหตุที่ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยตนในฐานะประธานสภาขอชี้แจงว่า การประชุมเพื่อแก้ไขมาตรา 256 นี้ มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ให้ไปทำประชามติก่อน ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ได้ส่งญัตติมาให้พิจารณาเพื่อส่งให้ศาลวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน และถามด้วยว่าประธานสภามีอำนาจในการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ตลอดสมาชิกรัฐสภามีอำนาจเสนอแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งตนขอชี้แจงเป็นข้อๆ โดยตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 21/2567 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2567 สาระสำคัญที่คนไม่ค่อยได้อ่าน ตนจึงอยากชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน ไม่อยากชี้แจงในขณะที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะจะกลายเป็นว่าไม่เป็นกลาง และเสียเวลา ทั้งตามคำวินิจฉัยดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ประธานสภามีอำนาจที่จะบรรจุ และ สส. คือก็มีอำนาจหน้าที่ที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งการแก้ไขรายมาตรา และแก้ไขทั้งฉบับ

ส่วนการจะไปทำประชามตินั้น คำวินิจฉัยพูดชัดว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา ส่วนจะต้องทำประชามติกี่ครั้งนั้น ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 21/2567 อาจจะแตกต่างจากคำวินัจฉัยเมื่อปี 2564 เล็กน้อย โดยหากรัฐสภาต้องการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจน ว่าต้องดูที่ความต้องการของสภาก่อน หรือดูความต้องการของประชาชนก่อน ซึ่งความเห็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐสภา และตนเห็นว่าต้องบรรจุเป็นวาระเข้าไปพิจารณาว่า รัฐสภาต้องการแล้วหรือยัง คือสภารับหลักการที่จะแก้ มาตรา 256 หรือไม่ หากไม่รับหลักการก็คือสภาไม่ต้องการ ดันนั้นสภาจะต้องการ หรือไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นมติของรัฐสภา ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ตนจึงเอามาปรึกษารัฐสภา ซึ่งหากรับหลักการวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ตนก็ยังไม่ได้ให้เลือก ส.ส.ร. และให้ไปดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องทำประชามติก่อน นี่คือขั้นตอน

“แต่หากยังไม่รู้เลยว่ารัฐสภาต้องการอย่างนี้หรือไม่ แล้วไปทำประชามติก่อนตามที่เข้าใจกัน ซึ่งก็ได้ แต่ต้องเสียเงิน 3 พันล้านบาทก่อน ถ้าประชาชนบอกว่าไม่ต้องทำ ก็ถือว่าไม่ต้องมาประชุมต่อ ถ้าประชาชนเอา และให้แก้ทั้งฉบับ ก็ต้องมาประชุมสภา แล้วถ้าเกิดว่าสภาบอกว่าไม่เอา เป็นเพียงความต้องการของพรรค แต่มติรัฐสภาเสียงข้างมากทำตามไม่ได้ แถมวุฒิสภาต้องมีเสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยมากกว่า หรืออย่างน้อยต้อง 1 ใน 3 ไม่เห็นด้วยก็แก้ไขไม่ได้อยู่ดี เพราะนั้นก่อนจะเสียเงิน 3 พันล้านบาท จึงเลือกวิธีให้รัฐสภาแสดงความต้องการก่อน ส่วนสมาชิกที่ไม่เข้าประชุม เพราะเกรงว่าขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และมองว่าอาจจะมีความผิด ก็เป็นสิทธิของสมาชิก” ประธานสภา กล่าว

นายวันมูหะหมัดนอร์ กล่าวต่อว่า เรื่องสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตอบชัดเจน แต่ให้ไปอ่านคำวินิจฉัยเอาเอง ว่าทำประชามติตอนไหน ทำให้มีการตีความไปต่างๆ นานา ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ ทาง นพ.เปรมศักดิ์ เพียรยุระ สว. เสนอญัตติเข้ามาว่าเนื่องจากยังไม่ชัดเจน จึงขอให้รัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง ซึ่งเสียงข้างมากในสภาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ไม่ได้เอาของ นพ.เปรม ให้รัฐธรรมนูญตีความ และเลื่อนการประชุมมาเป็นวันนี้ แต่สุดท้ายวันนี้ (14 ก.พ.) องค์ประชุมก็ไม่ครบ จึงต้องเลิกการประชุมไป ญัตติยังค้างอยู่ 3 ญัตติ ซึ่งประธานจะมีการนัดหมายประชุมอีกครั้ง เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมตรงกัน

เมื่อถามว่า ญัตติที่ค้างไว้แล้วมีคนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอะไรหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อตีความ เนื่องจากเป็นความขัดแย้งในองค์กรว่า อำนาจประธานสภาจะบรรจุได้หรือไม่ สมาชิกลงชื่อไม่น้อยกว่า 40 คน แล้วประธานต้องหารือว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรส่งก็ส่ง ซึ่งก็ทำอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ส่วนประชาชนยังไม่สามารถทำได้แม้ลงชื่อกันมา เพราะประชาชนยังไม่ถือว่าเป็นองค์กร.