เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 ก.พ. 68 ที่รัฐสภา กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เรียกร้องต่อนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน โดยเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ มาตลอดหลายปี เรายังยืนยันว่าประเทศนี้จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่วางอำนาจสูงสุด ที่มีที่มาชอบธรรมจากประชาชน ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนจบ ถ้ายังไม่ได้มาในวันนี้ก็จะยังไม่หยุดรณรงค์เรียกร้อง เคลื่อนไหว จนกว่าจะได้สิ่งนี้มา ต้องขอขอบคุณ สส. และ สว. ทั้ง 175 คน ที่ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องไปต่อและเราขอมองทุกท่านที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นคนที่วอล์กเอาต์ หรือคนที่มานั่งในห้องประชุมสภา แต่ไม่แสดงตน หรือคนที่ประกาศจะโหวตคว่ำ ถือว่าเป็นการกระทำที่ถ่วงการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ที่อย่างไรก็จะต้องเกิดขึ้น พวกเขาทำได้แต่ถ่วงเวลา วันนี้การประชุมสภาล่มไป แต่ญัตติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงอยู่และเป็นญัตติแรก ครั้งหน้าที่เปิดการประชุมขึ้นมา ก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ อาจจะต้องรอ 3 เดือน หรือ 4 เดือน ก็ไม่แน่ใจ

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า จริงๆ หากวันนี้โหวตตามกระบวนการที่ควรจะเป็น แล้วไม่ผ่าน ก็รอ 3-4 เดือนแล้วเสนอใหม่ ไม่ได้มีอะไรเสียหาย หรือช้าออกไป วันนี้การจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ไปต่อ ท่ามกลางเกมการเมือง ที่ถกเถียงกันมากมาย ว่าตกลงจะไปทางไหน สิ่งเดียวที่เรายืนยันว่า ไม่เห็นด้วยคือการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องนี้อีกเป็นรอบที่ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้อชัดเจนที่สุดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา เพราะมีข้อวินิจฉัยหลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยไปต่อไม่ได้มามากแล้ว ซึ่งก็ได้วินิจฉัยเรื่องนี้มาแล้วแม้ไม่เห็นด้วยมาก แต่ก็ปฏิบัติตามนั้นก็ได้คือให้รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจัดทำประชามติ 2 รอบ คือก่อนและหลังการจัดทำ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก

“ขอร้องว่า อย่าหยิบเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ มาส่งอีกเป็นครั้งที่ 3 วันนี้เลื่อนออกไปแล้ว เราก็หวังว่าเมื่อกลับมาพิจารณากันใหม่ จะได้เห็นความจริงใจที่มากกว่านี้ มากกว่าการเล่นเกมทางการเมือง” นายยิ่งชีพ กล่าว

ด้านนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในนามพรรคประชาชน เรายืนยันเดินหน้าเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านตัวแทนประชาชน ที่มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ที่การประชุมร่วมรัฐสภาในครั้งต่อไป แต่ตราบใดที่รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี ยังไม่ใช้วิธีการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่ไปควบคุมเสียงฝั่งพรรคภูมิใจไทยได้ อุปสรรค หรือ เดดล็อก จะยังคงอยู่แบบนี้ต่อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดหนทางเดียวคือให้นายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลและเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ.