เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งได้ออกมาให้ข้อมูลในการทำร้ายร่างกาย หากเมื่อตบ 1 ที จ่าย 500 นั้น ไม่มีอีกแล้ว ปัจจุบันต้องเสียเงินหลักหมื่น มิหนำซ้ำยังเสี่ยงคุกอีกด้วย

โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า ผมในฐานะแพทย์นิติเวชที่ตรวจผู้ป่วยคดี บ่อยครั้งที่ผู้เสียหายจะมาตรวจกับผมแล้วแจ้งว่า ถูกทำร้ายร่างกาย แต่แค่อยากลงบันทึกไว้ในเวชระเบียนของโรงพยาบาล ยังไม่อยากแจ้งความดำเนินคดีกับคู่กรณี เพราะเกรงกลัวอิทธิพล และถูกขู่ว่าจะกระทำซ้ำหากไปแจ้งความ โดยจะมีประโยคคลาสสิกว่า “พ่อรวย แบ๊กดี มีตังค์จ่ายค่าปรับ ครั้งละ 500 บาท จะตบกี่ครั้งก็ได้มีตังค์จ่าย”

อีกทั้ง “ผมฟังเรื่องนี้ทีไร ก็จะบ่นให้ผู้เสียหายฟังอยู่เสมอว่า ไม่จริง ตั้งแต่ปี 58 ปรับหลักหมื่นแล้ว 500 เก่าแล้วครับ ที่สำคัญถ้าเราไม่โอเค กับการที่ผู้กระทำรับโทษเพียงค่าปรับ ก็ยืนเรื่องฟ้องต่อศาลได้ ผมเป็นพยานในกรณีทำร้ายร่างกาย ที่มีบาดแผลเล็กน้อย ให้หยุดเพียง 1-3 วัน เป็นประจำ อย่าบ่อยให้คนที่เขาทำร้ายเราได้ใจ ทำกับเราซ้ำๆ และหยามใจไปกระทำกับคนอื่นไปเรื่อยๆ”

“เพราะอันนั้นเขาเรียกว่า “ภัยสังคม” ยิ่งถ้ากลุ่มคนเหล่านี้มารวมตัวกัน ก็จะกลายเป็น “ปัญหาสังคม” คิดอยากจะทำร้ายใครก็ได้ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะคิดไปเองว่า เหยื่อจะกลัวกับคำขู่ และบางรายผมก็เชื่อว่า เขาเชื่อว่า ทำร้ายร่างกายคนอื่น จ่ายแค่ 500 จริงๆ”

“ผมเชื่อว่า วันนี้หากผู้บังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง ดำเนินการกับผู้ต้องหาอย่างตรงไปตรงมาทุกข้อกล่าวหา จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรง กล้าลุกขึ้นมาสู้ กล้าแจ้งความดำเนินคดี และหากกลุ่มผู้กระทำความผิด ได้รับโทษทุกครั้งที่กระทำ ก็จะทำให้ผู้กระทำผิดกล้าที่กระทำซ้ำน้อยลง จนไม่มีใครกล้าทำร้ายผู้อื่น แล้วสังคมเราจะน่าอยู่มากขึ้นครับ”

อีกทั้ง หมอหมูขอยกตัวอย่างกรณีศึกษา 1 ราย โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. ชายถูกชกที่ใบหน้า 2 ครั้ง ตรวจพบบาดแผลฟกช้ำ บริเวณใบหน้าข้างขวา 2 บาดแผล เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ความเห็น พักรักษาตัว 2 วัน
2. พนังงานสอบสวน ตั้งข้อหาตาม มาตรา 391 “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (อัตราโทษแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558) และมีความเห็นสั่งปรับ 5,000 บาท แต่ผู้เสียหายไม่ยอม ขอให้พนังงานสอบสวนยื่นเรื่องต่ออัยการ เพื่อยื่นเรื่องฟ้องศาล ต่อไป
3. ซึ่งในการฟ้องศาลตามมาตรา 391 นั้น จะมีการพิจารณาเรื่อง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จนกระทั่ง “จะเห็นได้ว่าหากเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ยินยอมให้ผู้กระทำรับโทษ เพียงค่าปรับจากพนังงานสอบสวน ก็มีสิทธิที่จะยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลได้ ซึ่งผมเชื่อว่าหากผู้กระทำความผิดเจอขั้นตอนทางกฎหมายแบบนี้ คงไม่กล้าที่จะกระความผิดซ้ำๆ เพราะเขาต้องเสียทั้งเวลา เสียเงินเสียทอง และเสี่ยงที่จะติดคุกได้ ถ้ายังมีพฤคิกรรมเดิมๆ อยู่ครับ”

อย่างไรก็ตาม “ผมในฐานะแพทย์นิติเวชที่ทำหน้าที่ตรวจผู้ป่วยคดี (ถูกทำร้ายร่างกาย อุบัติเหตุ และอื่นๆ) และมีลูก 2 คน ขอเป็น 1 เสียง ที่จะออกมาสนับสนุน ให้ผู้เสียหายออกมาแจ้งความดำเนินคดี กับผู้ที่กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น อย่าปล่อยให้เขากระทำกับเราซ้ำๆ เพราะอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญเขาอาจรวมตัวกันเป็นแก๊ง จนเป็น “ภัยสังคม” ต่อลูกหลานของเราในอนาคต” หมอหมู กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์