ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวลเนสไทย ระหว่างวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ “โครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/ด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนโพร ประจำปี 2568 โดยสถาบันการแพทย์ทางเลือกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในชุมชนและบริการจากศูนย์เวลเนส ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย ชุมชนสุขภาพดี และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่เป้าหมาย ที่มีศักยภาพโดยการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ (Role Model) ด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร,กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการ บุคลากรด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม แพทย์แผนไทย และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชน

นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูงได้ ในขณะที่กระแสการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนโพรไทยให้เป็นจุดแข็งในการแข่งขันของประเทศ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้พิจารณาเห็นว่าจังหวัดพิษณุโลก มีศักยภาพและความพร้อมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวลเนส จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการขับคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพจากกรยกระดับผลิตภัณฑ์ และบริการ โดย เชิญผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวลเนสไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญการควบคุม กำกับ คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาเป็นวิทยากรในการประชุม มีนางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งช่วยประสานงานหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งสถานที่ สมุนไพร ภูมิปัญญาที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เวลเนสไทย

นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จากการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก เราได้ทำโครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในชุมชน 4 ชุมชน ในจังหวัดพิษณุโลกเช่นชุมชนบ้านหอกลอง อ.พรหมพิราม บ้านน้ำจวง อ.ชาติตระการ หมู่บ้านสีชมพูบ้านร่องกล้า อ.นครไทย และหมู่บ้านนครชุม อ.นครไทย จากนั้นได้มีการประกวดของกรมการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แล้วได้รางวัลทั้งหมด 4 ชุมชน หลังจากนั้นทางสถาบันการแพทย์แผนไทยแพทย์ทางเลือกก็ได้มีการเลือกว่า จังหวัดไหนเป็นจังหวัดนำร่องโครงการอบรม product ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ และเป็นสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ซึ่งสมุนไพรในจังหวัดพิษณุโลก เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน เช่นบ้านน้ำจวง มีข้าวโค้ว ข้าวหอมมะลิม้ง นำมาสกัดเย็นเป็นเซรั่มในการทำตาม บ้านน้ำจวง ว่านชักมดลูกนำมาทำเป็นครีมทาตัว ส่วนที่บ้านร่องกล้าหมู่บ้านสีชมพู ได้นำดอกพญาเสือโคร่ง ให้สถาบันฯนำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอม เรียกว่าน้ำหอมพญาเสือโคร่ง นอกจากนี้ มีบัวหิมะ นำมาทำเป็นอาหาร โดยอบแห้ง ทำเป็นอาหารสุขภาพ ส่วนที่บ้านหอกลอง มีดอกปีบเยอะมาก ได้นำดอกปีบมาทำเป็นน้ำหอม กลิ่นสำหรับผู้หญิง เพราะ จ.พิษณุโลก เป็นจังหวัดนำร่องในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ