ในที่สุดการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จำนวน 2 ร่าง ที่เสนอโดย พรรคประชาชน (ปชน.) กับ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 13-14 ก.พ. ต้องล่มเป็นวันที่สอง ติดต่อกัน หลัง สส. พรรค พท.เสนอนับองค์ประชุม โดยก่อนหน้าที่จะมีการประชุมรัฐสภา “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ มือกฎหมายรัฐบาล หารือ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล และ สส. พรรค พท. เพื่อหาทางออกถึงการพิจารณาแก้ไข รธน. จากนั้นเปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่า เจตนาของฝ่ายต่างๆ คล้ายว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ต้องการล้มร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า หากร่างล้มไปก็จะเป็นปัญหา ต้องไปเริ่มต้นใหม่

ดังนั้น จึงคิดว่าการพิจารณาวันนี้ไม่ควรจะ นำไปสู่การลงมติ อยากให้ร่างแก้ไข รธน.วันนี้ยังค้างอยู่ในสภา แล้วค่อยหาทางส่ง ให้ศาล รธน.วินิจฉัย ดีที่สุด คือให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เมื่อถามย้ำว่า ศาล รธน.จะรับหรือไม่ เพราะเคยมีคำวินิจฉัยชัดเจนอยู่แล้ว นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งครั้งที่แล้วประธานสภา ไม่ได้บรรจุเป็นวาระ แต่ครั้งนี้มีการบรรจุระเบียบวาระแล้ว และมีความขัดแย้งกัน เลยคิดว่าศาลจะรับวินิจฉัย
ก่อนหน้านั้น “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” สว.กลุ่มสีขาว เตรียมยื่นญัตติ เพื่อขอให้รัฐสภามีมติ ส่งเรื่องไปยังศาล รธน. วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตาม รธน. มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อกรณีอำนาจของรัฐสภาต่อการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ ทำได้ก่อนการออกเสียงประชามติสอบถามประชาชนหรือไม่

โดยในระหว่าง การประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วนแก้ไข รธน. “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” สส.น่าน พรรค พท. ใช้สิทธิเสนอขอนับองค์ประชุม โดยฝั่งพรรค ปชน. พยายามประท้วง นายวันมูหะมัดนอร์ จึงวินิจฉัยว่า แม้จะให้เริ่มแถลงญัตติแล้ว แต่เมื่อมีการเสนอให้ ตรวจสอบองค์ประชุม สามารถทำได้ ประธานก็ต้องนับองค์ประชุม ซึ่งในระหว่างนั้นห้องประชุมเป็นไปอย่างวุ่นวาย มีสมาชิกรัฐสภา ตะโกนประท้วงนายวันมูหะมัดนอร์ จนทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวขึ้นว่า “หากไม่อยู่ในระเบียบ ต้องให้เจ้าหน้าที่มาเชิญ มาว่าผมเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลหรือ ขอให้วิปแต่ละฝ่ายดำเนินการ” จากการตรวจสอบองค์ประชุม พบว่ามี ผู้มาแสดงตนรวม 176 คน ไม่ครบองค์ประชุม จึงต้องปิดประชุม โดยมี ยอดผู้เข้าประชุม 620 คน

ด้าน “นายสุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อพรรค พท. พร้อมคณะแถลงข่าวภายหลังองค์ประชุมรัฐสภาล่มในการพิจารณาร่าง รธน.เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยย้ำว่า เป้าหมายของพรรค พท. ที่จะ รักษาร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้ ไว้ให้อยู่ในระเบียบวาระได้มากที่สุด ไม่ให้ถูกตีตก ซึ่งวันนี้ทุกคนรู้คำตอบแล้วว่า ถ้าพิจารณาแล้วลงมติก็ต้องตกไป จึงทำวิธีการที่ไม่อยากทำ คือ ไม่เป็นองค์ประชุม จะพยายามนำสู่ศาล รธน.ให้พิจารณาตีความอีกครั้งหนึ่งให้ได้ ซึ่งต้องเข้าใจว่า การแก้ไข รธน.ที่ยุ่งยาก เกิดจากศาล รธน. ส่วนกรณีพรรค ปชน.เคยยื่นไปแล้วแต่ศาล รธน.ไม่รับนั้น นายสุทิน กล่าวว่า ตอนนั้นยังไม่มีข้อขัดแย้ง วันนี้เราจึงทำให้องค์ประกอบนั้นชัด คือยื่นเข้าสภา และมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น แล้ว ซึ่งอาจมีคนที่ไม่เข้าใจเรา ก็ยอมให้ตำหนิแต่เชื่อว่าเมื่อจบไปสู่เป้าหมายแล้วทุกคนจะเข้าใจ

ส่วน “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” สส.น่าน พรรค พท. กล่าวว่า สำหรับการยื่นให้ศาล รธน. ตีความว่าจะทำประชามติกี่ครั้งนั้น พรรค พท.จะรวบรวมรายชื่อ ให้เกิน 40 คน ซึ่งเรามี สส.จำนวนมากอยู่แล้ว เพื่อเสนอญัตติใหม่เข้ามาบรรจุในระเบียบวาระ การประชุมร่วมรัฐสภา ลำดับที่ 4 โดยจะรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ประธานรัฐสภา เปิดประชุม พิจารณาให้เร็วที่สุด โดยจะไม่ใช้ญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่เสนอไว้ เพราะอยากทำใหม่เลย เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ด้าน นายสุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราทำอยู่นี้ ประโยชน์ คือได้ความชัดเจน และจะทำให้การแก้ไข รธน.มีโอกาสสำเร็จ จึงอยากฝากสื่อมวลชน ให้ถามพรรค ปชน.ว่าแนวทางที่กำลังเดิน มีประโยชน์อย่างไร แล้วจะทำให้ การแก้ไข รธน. สำเร็จอย่างไร ถ้าเดินไปแล้วมันตก จะได้เอามาเปรียบเทียบกับแนวทางที่พรรค พท.เดิน เมื่อถามย้ำว่า ส่วนที่พรรค ปชน.อยากให้พรรค พท. ทำความเข้าใจกัน ในพรรคร่วมรัฐบาล แล้วมาเดินหน้าโหวต นายสุทิน รับว่า ปัญหาวันนี้ ไม่ได้เกิดที่เสียง สส.ฝั่งรัฐบาล แต่เกิดที่เสียง สว. เราอยากได้ 67 เสียง แต่ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าการแก้ไข รธน. เป็นเรื่องใหญ่ ทุกพรรคมีจุดยืนเป็นของตัวเอง พรรค พท.ในฐานะเป็นแกนนำ ส่วนที่ทุกคนถามหา ความรับผิดชอบ จากนายกฯ คือ ให้พรรค พท. เดินหน้าแก้ และเราก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ถ้าถาม ความรับผิดชอบ จากนายกฯ ก็ทำแบบนี้

ด้าน สส.พรรค ปชน. นำโดย “นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค และ ผู้นำฝ่ายค้านฯ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรค ปชน. ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมรัฐสภาล่มเป็นวันที่ 2 ว่า เชื่อว่าการเดินหน้าแก้ไขมีกระบวนการ ที่เดิน อย่างตรงไปตรงมา ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม ซึ่งเราไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมอย่างที่เป็นอยู่ จะนำไปสู่ ปลายทางที่ประชาชน ต้องการ รธน.ฉบับใหม่ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้ง “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรค ภท. เพื่อพยายามผลักดันร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้ ให้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า พรรค พท. ไม่มีความจริงใจ ที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วนที่บอกว่าต้องเดินอ้อมเพื่อทำให้สภาล่ม เพื่อให้ญัตตินี้ยังคงค้างอยู่ในรัฐสภา ตนเชื่อว่าทุกคนเห็นว่าเป็นเพียงแค่ข้ออ้าง
“สำหรับการ ไม่เคารพเสียง ของประชาชน ที่ผ่านมาในการหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง มีข้อเสนอเดียวกันในการแก้ไข รธน.60 และยังเป็น นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นวิธีหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ หากนายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล และถืออำนาจสูงสุดในการยุบสภา นายกฯ สามารถเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลและแสดงเจตจำนงชัดเจนเพื่อให้เห็นว่าพรรค พท.เคารพเสียงของประชาชน แต่หากไม่สามารถทำได้ นายกฯ ก็ มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพี่น้องประชาชน” นายณัฐพงษ์ กล่าวและตอบคำถามกรณีความกังวล เรื่องเสียง สว. ว่า ถ้าพรรค พท.ยืนยันจริงๆ ว่า สิ่งที่พรรคต้องการในการสนับสนุนการแก้ไข รธน.คือความชัดเจนของ คำวินิจฉัยศาล รธน. ก็ไปเชิญชวนพรรค ภท. ให้มาลงมติสนับสนุนการส่งเรื่องไปศาล รธน.

ด้าน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรค พท. ให้เหตุผลเรื่องความกังวลใจใน การเดินหน้าแก้ไข หากมีการลงมติจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ จาก พรรค ภท. และ เสียง สว. ที่มีชุดความคิดคล้ายกับพรรค ภท. อยากชวนทุกคนตั้งคำถามว่า เป็นเพราะข้อกฎหมายจริงๆ หรือความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล พรรค ปชน.ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการไม่ได้ขัดต่อ คำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ 4/2564 ซึ่งความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่แค่เรื่อง รธน.เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น กฎหมายกลาโหม พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นต้น เมื่อถามถึงกรณีที่ แกนนำพรรค พท.ระบุควรชะลอ เนื่องจากหากปล่อยให้โหวตจะตกเหว นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้ากังวลใจเรื่องการลงมติ ตามการใช้คำพูดของพรรค พท.คือลงเหว ก็ยังไม่ต้องลงมติก็ได้ แต่ควร ให้มีการอภิปรายต่อ ไปก่อน
ต้องยอมรับว่า กระบวนการแก้ไข รธน. 2 วันที่ ผ่านมา พรรค พท.ในฐานะแกนนำรัฐบาล เจอกระแสวิจารณ์ ในทางลบไปเต็มๆ ทั้งเรื่องการไม่สามารถทำความเข้าใจพรรคร่วมรัฐบาล ให้มาช่วยออกเสียงสนับสนุนการแก้ไข รธน. หรือทำไม ไม่หาข้อสรุป ในการส่งศาล รธน.วินิจฉัยว่า ก่อนการแก้ไข รธน. ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนแปลงท่าทีภายหลัง จากนี้ไป ต้องรอดูกระบวนการ ส่งเรื่องไปให้ศาล รธน. และจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร อีกทั้งถ้าหากกระบวนการดังกล่าวไปได้ และเข้าสู่การพิจารณา ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะได้รับความเห็นชอบจาก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือไม่ เพราะเนื้อหาการแก้ไข รธน.ของพรรค พท. ก็เสนอ ตัดอำนาจ สว. ในการให้ความเห็นชอบแก้ไข รธน. อีกทั้งความเห็นต่างของพรรค ภท.
กับพรรค พท.ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ จะกระทบกับ เสถียรภาพของรัฐบาล หรือไม่ ยิ่งอีกไม่เดือนข้างหน้ารัฐบาล ต้องเผชิญกับ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เอกภาพของรัฐบาลจะมีปัญหาหรือไม่ กับการออกเสียงเพื่อรักษาสถานะของรัฐบาล

ขณะที่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ ในฐานะ หัวหน้าพรรค ภท. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแก้ไข รธน. ว่า จุดยืนพรรค ภท.ยังเหมือนเดิม ยึดมั่นในแนวความคิดของเรา เรามาลงชื่อเข้าประชุม แต่จะ ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม หากมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไข รธน. เพราะพรรคตีความเรื่องนี้แล้วเห็นว่า มีความเสี่ยงจริงๆ เมื่อถามว่า ทิศทางของพรรค ภท.ต่อการแก้ รธน.เป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า หากทุกอย่าง เป็นไปตามกฎหมาย เราก็พร้อมให้ความร่วมมือ ต้องรอคำวินิจฉัยของศาล รธน. เพราะเรามองว่าการแก้ไข หมวด 15/1 ให้มีสภาร่าง รธน. (ส.ส.ร.) เป็นการ แก้ไข รธน.ทั้งฉบับ เราไม่เสี่ยง เมื่อถามย้ำว่า หากนายกฯ เรียกคุย พรรค ภท.จะกลับจุดยืนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯ คงไม่เรียกไปให้เรากลับจุดยืน มีคนเสนอยื่นให้ศาล รธน.ตีความ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีแล้วซึ่งเราก็รอ
ทีมข่าวการเมือง