จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย กับเรื่องพรรคเพื่อไทยล่มสภาเพื่อสกัดวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 13-14 ก.พ. ซึ่งนายสุทิน คลังแสง แกนนำพรรค บอกในทำนองว่ามันเป็นเรื่องจำเป็น ดึงดันอภิปรายต่อไปก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครกล้าลงมติ เนื่องจากเกรงว่าจะไปขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติก่อน
แม้ว่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตรา แต่การแก้ ม.256 และเพิ่มหมวด 15/1 ซึ่ง “มีผลให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ”ไม่ใช่แค่แก้ระบบเลือกตั้งอย่างที่เคยแก้ ก็สุ่มเสี่ยงจะโดนวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ และถูกยื่นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชวนคิดว่า ประเด็นจริยธรรมมันควรมีโทษแค่ไหน ไม่ใช่ถึงขั้นทำ สส.ไม่กล้าทำงาน
“ทฤษฎีสมคบคิด”หรือแบบไทยๆ เรียกว่า“มโน”มีมากมายในโลกโซเชี่ยลฯ หลังสภาล่ม ไปถึงขึ้นว่า “จริงๆ แล้วเพื่อไทยต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาชน ( ปชน.) ต่างหากที่ไม่อยากแก้ เลยร่วมมือกับภูมิใจไทยเล่นเกมสภา คนพูดเขามีเหตุผลว่า “ก็ ปชน.รู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ไม่ได้เสียง สว. ดังนั้น ทำให้ร่างคว่ำดีกว่าจะได้ใช้หาเสียงสมัยหน้า”
แต่เอาจริง การทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคว่ำโดยการโหวตคว่ำในวาระแรก ก็อาจมีผลแค่ทอดเวลานานออกไปหน่อย พอเปิดประชุมสภาสมัยหน้าก็ยื่นกลับเข้ามาใหม่ได้ ทางกองเชียร์เพื่อไทยเขายิ่งย้ำว่า เพื่อไทยก็มองอย่างนั้นแหละ ที่รอศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนแล้วค่อยเอามาพิจารณา จะได้หายใจกันทั่วท้องไม่ต้องระแวง
“หัวหน้าเท้ง”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน.เคยแสดงความเห็นว่า“ยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ตีความ” โดยเจ้าตัวชี้ให้เห็นว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ต้องเป็นเรื่องที่มีผลเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่ยื่นหนังสือไปเพื่อหารือ ซึ่งก็คงจะขำแบบตลกร้ายดี ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความแล้วได้แต่หันรีหันขวางกันทั้งสภา ทำตัวไม่ถูก
จะแก้ไปก่อน แล้วทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ( ทำครั้งที่สองเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว) เดี๋ยวก็มีนักร้องมาป่วนอีก ไม่รู้จะออกลูกทำกระบวนการชะงักรอแก้หลังปี 70 หรือไม่ หรือแก้ไปก่อน ตอนลงมติก็ไม่ทราบว่าจะได้เสียง สว.หรือไม่ ต้องใช้ สว.รับรองวาระแรกทั้งหมดราว 67 คนเป็นอย่างน้อย
แต่เมื่อมันเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา จึงควรมีสภาพเป็นคำสัญญาที่ต้องดำเนินการ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำคือ “การแสดงความจริงใจในการจะผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้” เรื่องนี้ “บิ๊กอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม“ชี้สัญญาณ”อย่างหนึ่งให้เห็นว่า“มันมีโอกาสที่ทุกพรรคจะสามัคคีแก้รัฐธรรมนูญ”
บิ๊กอ้วนบอกว่า เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าที่ประชุมสภา เป็นฉบับที่เสนอโดยพรรคการเมือง ดังนั้นให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.จะโหวตอย่างไรก็ได้ เมื่อพูดเช่นนี้ทำให้ชวนคิดว่า “ถ้าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ก็ต้องมีผลผูกพันพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดหรือไม่ ? แล้ววิปรัฐบาลจะต้องมีมติโหวตทางเดียวกัน”
ถ้าเสนอโดย ครม.ก็ต้องโหวตให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพราะเป็นความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาล ถ้าจะมาอ้างเอกสิทธิ์ก็น่าสวนกลับว่า “แล้วถ้าอย่างนั้นอภิปรายไม่ไว้วางใจจะให้ฟรีโหวตหรือไม่ ?” ยิ่งตอนนี้สถานการณ์ในรัฐบาลถูกมองว่าลุ่มๆ ดอนๆ พรรคภูมิใจไทยนี่ถูกตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อไทย 2-3 รอบแล้ว
ถ้ารับผิดชอบต่อการเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็โยนเรื่องกลับมาที่“นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เอาให้ชัด แถลงมาเลยว่า “จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามรัฐบาลหรือไม่?” ต้องเป็นคนปิดจบเรื่อง และขอให้คิดในแง่ดีว่า ถ้าจะแก้จะได้จัดการกับการตีความที่กว้างขวางเกี่ยวกับหมวดจริยธรรมด้วย ว่าควรทำอย่างไรไม่ให้ สส.,สว.ผวาไปหมด
นายกฯ จะให้ ครม.มีมติเสนอร่างฯ หรือไม่ เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาล.