ในช่วงต้นสัปดาห์มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเมื่อพรรคเพื่อไทย เล่มเกมอาสาเป็นตัวกลางนำปมปัญหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เวทีฝ่ายนิติบัญญัติสอดสลักขัดแย้ง

ส่วนประเด็นการแก้หรือไม่แก้ มาตรา 112 เป็นเรื่องของระบบรัฐสภาที่ต้องใช้ เสียงข้างมากตัดสิน!

“พรรค พท. จะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีในการล่าชื่อหรือผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แต่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานนำปัญหาเข้ามาคุยในสภาเท่านั้นแต่ไม่ตัดสิทธิว่าพรรคไหนหรือสมาชิกท่านใดจะนำเสนอขอแก้ไข เพราะไม่อยากให้นำปัญหาไปแก้กันบนถนนนอกสภาฯ” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ย้ำช่วงหนึ่งระหว่างการแถลงข่าว

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติชัดเจน “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

(1)ในมุมหนึ่งฝ่ายคัดค้านการแก้มาตรา 112 ยืนยันกฎหมายไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่คนคิดไม่ดีต่อบ้านเมือง หากไม่ได้ทำผิด ไม่จำเป็นต้องกลัว

(2) ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่สนับสนุนให้แก้มาตรา 112 มองว่ากฎหมายมีอัตราโทษสูง ตั้งแต่ 3-15 ปี ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และเปิดช่องให้ทุกคนสามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดี ส่งผลให้ มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามกำจัดศัตรูทางการเมือง

เมื่อพลิกบันทึกประวัติศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย มีมายาวนานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

โดยในช่วง พ.ศ. 2325 กรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่หนึ่ง มีการบังคับใช้ “พระไอยการอาชญาหลวง” โดยในมาตรา 7 กำหนดโทษผู้หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ชัดเจน แบ่งโทษออกเป็น 4 หมวดหลักคือ (1) โทษถึงชีวิตตัดหัวริบเรือน (2) โทษตัดอวัยวะ ตัดปาก-ตัดหู-ตัด มือ-ตัดเท้า (3) โทษทำให้ร่างกายบาดเจ็บโดยการเฆี่ยนตี และ (4) โทษจำคุกให้เอาตัวไปเป็นคนเลี้ยงช้าง

“ผู้ใดทะนงองอาจ์บ่ยำบ่กลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ แลพระบันทูลพระโองการ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาญาพระเจ้าอยู่หัว ท่านให้ลงโทษ ๘ สถานๆ หนึ่งคือให้ฟันฅอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง ๒๕ ที ๕๐ ที ให้จำไว้ เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่ ให้ไหมทวีคูน ให้ไหมลาหนึ่ง ให้ภาคทัณท์ไว้”

จากนั้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการประกาศใช้ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 กำหนดฐานความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในมาตรา 4 ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากนั้นไม่นานมีการนำรูปแบบประมวลกฎหมายแบบภาคพื้นยุโรปมาใช้ และประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทั่ง พ.ศ.2499 ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 เปลี่ยนไปใช้ประมวลกฎหมายอาญาแบบสากลและเริ่มเขียนมาตรา112 กำหนดโทษคนหมิ่นสถาบันเบื้องสูงให้จำคุกไม่เกิน 7 ปี ก่อนที่ปี 2519 คณะรัฐประหาร แก้โทษมาตรา 112 เพิ่มเป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปีและมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน.