จากกรณีหลายหน่วยงานนำโดยนายพัชร์ภารุจ สุคนธร ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้, ตำรวจ บก.ปทส., ดีเอสไอ, กอ.รมน., ป.ป.ท., ป.ป.ช. และทหารพราน ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบสวนทุเรียนนับพันไร่ของ “นายทุนบริษัทต่างชาติ” ปลูกในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ไถโค่นป่าติดภูเขาจนกลายเป็นสวนทุเรียนแปลงใหญ่นับพันไร่นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบปลูกทุเรียนแปลงใหญ่รวมกว่า 500 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซน โดยโซนแรก มีพื้นที่ 370 ไร่ และโซนที่สอง มีพื้นที่ 236 ไร่ อายุทุเรียนโตประมาณ 2 ปี มีความสูงของต้นทุเรียนเฉลี่ย 1-2 เมตร นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ ระดับความลึกถึง 30 เมตร มีการติดตั้งระบบเดินเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง และการวางแนวระบบจ่ายน้ำอย่างดีไว้บริเวณรอบสวนทุเรียนแปลงใหญ่

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่พบบ้านพักคนงาน จึงสะท้อนว่าไม่ใช่เป็นของเกษตรกรทั่วไป ซึ่งการปลูกอย่างเป็นระบบถือเป็นระดับ “นายทุนใหญ่” อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังพบข้อมูลการพยายามกว้านซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก ส่วนจะมีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อย่างไร อยู่ระหว่างขยายผลตรวจสอบ

ด้านนายชัยนันท์ อิ่มเจริญ หัวหน้าหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ ฉช.3 (หนองคอก) ระบุ เบื้องต้นมีความผิดตาม มาตรา 14 ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต, ม.54 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพื้นที่ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่พบอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ และบางส่วนพบในที่ดินที่กรมป่าไม้อนุญาตให้จังหวัดมาจัดนโยบายที่ดิน (คทช.) คาดจะใช้เวลาหลังจากวันนี้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในการรวบรวมหลักฐานในทั้ง 2 แปลง 500 ไร่ ว่าแนวไหนที่ไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการตรวจยึด ถึงแม้จะมีการอนุญาตไปแล้วร้อยกว่าไร่ จาก 500 ไร่ ก็ตามก็จะเอกซเรย์ หากพบสัดส่วนไหนก็ดำเนินการตรวจยึดให้เป็นไปตามบทกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติฯ ต่อไป

สำหรับบริษัทที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบข้อมูล มีชาวจีนเป็นประธาน ให้คนไทยเป็นผู้จัดการสวนในโซนต่างๆ หลังจากนี้จะเชิญมาให้การกับเจ้าหน้าที่ด้วยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอกสารสิทธิปลูกสวนทุเรียน มีที่มาที่ไปอย่างไร และจะขยายผลพันธุ์ทุเรียนที่นำมาปลูก ว่าเป็นสายพันธุ์ต่างชาติอะไรบ้าง เพราะชื่อของบริษัทเป็นชื่อเดียวกับสายพันธุ์ของทุเรียนต่างชาติไม่ใช่สายพันธุ์ไทย ซึ่งบริษัทเริ่มต้นปลูกทุเรียนในไทย เมื่อปี 2564 จำนวนหลายพันไร่ หากพบว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ก็จะรวบรวมข้อมูลรายงานเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้พิจารณาตามขั้นตอนด้วย.

