ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนบ้านข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ครูและนักเรียนในระดับ ป.6 – ม.3 ต่างลงไปยังแปลงปลูกอ้อยของผู้ปกครอง เพื่อเก็บใบอ้อยแห้ง ที่ผู้ปกครองใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อนำมาประดิษฐ์ “วิจิตราภรณ์ เครื่องประดับไทยจากใบอ้อย” โดย นายวุฒิพงษ์ ปิ่นนาค ผอ.โรงเรียนบ้านข่อยสูง, นายมัณฑนภัทร ขุนจ้อน, นางปัทมาภรณ์ พัฒนชัย ครูที่ปรึกษา และนักเรียน ร่วมจัดโครงงานอาชีพ ช่วงคาบเรียนชุมนุม และช่วงคาบเรียนลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีเป็นจำนวนมากในชุมชน คือ ใบอ้อย มาประดิษฐ์ “เครื่องประดับไทย” ใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างรายได้ระหว่างเรียน และที่สำคัญลดการเผา ลด PM 2.5 ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน

ครูและนักเรียน ต่างร่วมด้วยช่วยกัน เก็บใบอ้อยแห้งจากแปลง นำมาตัดเอาเฉพาะส่วนใบเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นใช้ครกหินตำให้ละเอียด ทำการลอกลายแบบเครื่องประดับที่ต้องการ ใช้เลื่อยฉลุตัดและดามแบบด้วยลวดเพื่อให้ชิ้นงานแข็งแรงและสามารถดัดงอได้ตามรูปทรงที่ต้องการ ขั้นตอนการจัดเตรียมการผสมดินกดลาย ด้วยการต้มแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำสะอาด เมื่อจับตัวเป็นก้อน นำมานวดผสมผงแคลเซียม ปูนยาแนว ทิชชู และใบอ้อยตำละเอียด (ตามสัดส่วนที่คำนวณอย่างลงตัวแล้ว) นำดินที่ได้จากการผสม กดลงไปในแม่พิมพ์ตามลวดลายที่ต้องการ นำออกมาติดลงแบบลายฉลุ ตากแดดให้แห้ง จากนั้นลงสีน้ำมัน ปิดทองคำเปลว และประดับตกแต่งให้สวยงาม ก็เป็นอันเสร็จ 1 ชิ้นงาน ล่าสุดเครื่องประดับไทยจากใบอ้อย ของโรงเรียนบ้านข่อยสูง มีครบทุกชิ้น เหมือนยกร้านจำหน่ายหรือเช่าเครื่องประดับรำไทย นาฏศิลป์ มาไว้ที่โรงเรียนเลยทีเดียว

นายมัณฑนภัทร ขุนจ้อน ครูที่ปรึกษา กล่าวว่า สืบเนื่องจากอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และมีพื้นที่ปลูกลำดับต้นๆ ของ จ.อุตรดิตถ์ อยู่ที่ ต.ข่อยสูง ช่วงเดือน พ.ย.- ก.พ.ของทุกปี เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการเผาใบอ้อย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเก็บเกี่ยว และเพื่อเริ่มการเพาะปลูกใหม่ ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ สาเหตุของ PM 2.5 เกินมาตรฐาน ด้วยคุณสมบัติของใบอ้อยที่มีความเหนียว ทน และยึดเกาะกับมวลต่างๆ ได้ดี จึงนำมาเป็นส่วนประกอบหลัก ในการประดิษฐ์เครื่องประดับไทยจากใบอ้อย

“ทุกชิ้นงานประดิษฐ์ของนักเรียน รร.บ้านข่อยสูง ใช้งานได้จริง เมื่อต้องจัดการแสดง ประหยัดงบประมาณในการเช่า ซึ่งต่อครั้งต่อชุดราคาค่อนข้างสูง และยังสร้างรายได้ระหว่างเรียน ด้วยบริการเช่าเครื่องประดับดังกล่าว หัวใจสำคัญคือ ลดการเผา ลด PM 2.5 ไม่ให้เกินมาตรฐาน สร้างสุขภาพที่ดี นอกจากนี้พบว่า ปัจจุบันผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องประดับไทยเริ่มมีน้อยลง เพื่อให้เด็กๆ รุ่นใหม่ ได้สืบสานงานศิลป์ที่เป็นมรดกของชาติให้เยาวชนได้ศึกษา ต่อยอด และสามารถนำเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรายได้ ที่สำคัญใช้วัตถุดิบที่มีเป็นจำนวนมากในชุมชน โดยไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใด หากกลุ่มอาชีพ หรือหน่วยงานที่สนใจเรียนรู้ ยินดีเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวสู่ชุมชน ติดต่อได้ที่ เพจ โรงเรียนบ้านข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์