วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันดีเดย์ที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พอจะเบาบางลงบ้าง โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวนานาชาติ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หากถามว่า เปิดแล้วจะมีผลอะไรตามมามากน้อยเพียงใด คงมีคำถามต่างๆ นานากันไป ด้วยสภาพเศรษฐกิจ การทำงาน การเรียน หรือการประกอบสัมมาอาชีพ  คนไทยยังคงต้องหาอยู่หากิน ส่งเสียลูกหลาน ดูแลครอบครัว และช่วยเหลือกันต่อไป

จึงขอนำคติธรรมเพื่อประคองใจในการดำเนินชีวิต มาส่งต่อกำลังใจแก่พี่น้องชาวไทย 4 ประการ คือ  

“อย่าใจเติบ เสิบสาน การจับจ่าย 

อย่าใจแตก แหลกสลาย หลายเมียผัว 

อย่าใจตก ทุกข์ภัย อย่าไหวกลัว 

อย่าใจต่ำ ทำชั่ว มั่วโลกีย์ ” 

1.“อย่าใจเติบ เสิบสาน การจับจ่าย” คำพระท่านสอนว่า คนใจเติบ เสิบสาน หาเท่าไรก็ไม่เต็ม ใจเติบ คือ เกินตัว ประเภทว่ากู้หนี้ เพื่อเอามากู้หน้า พอเกินตัว เกินที่หามาได้ เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เป็นหนี้ ไม่สบายใจ สุดท้ายก็จะทุจริต อย่าเสิบสาน ก็คือ อย่าสุรุ่ยสุร่าย  

2. “อย่าใจแตก แหลกสลาย หลายเมียผัว” มีเรื่องเล่าว่า ลูกชายคนหนึ่งขอร้องให้พ่อไปขอสาวให้ เมื่อรถกำลังเลี้ยวเข้าซอยบ้าน พอพ่อเห็นหลังคาบ้าน พ่อก็พูดว่า “ไม่ได้นะ นั่นน้องเอ็ง”  3 ปีผ่านไป ลูกชายไปเจอแฟนใหม่ที่ที่ทำงานเดียวกัน ขอร้องพ่อไปขอสาวให้อีก พอเลี้ยวรถเข้าไปจอดหน้าบ้าน พ่ออ่านป้ายชื่อสกุลหน้าบ้าน แล้วพูดว่า “ไม่ได้นะ นั่นก็น้องเอ็ง”  ลูกชายโมโหมาก กลับมาบ้าน โวยวายใส่แม่ “แม่นะตาบอดหูหนวก พ่อมีเมียน้อยตั้ง 2 คนรู้ไหม” แม่ก้มลงกอดลูกน้ำตาไหล กระซิบข้างหูลูกว่า “อย่าเสียงดังไป เอ็งก็ไม่ใช่ลูกมัน” สุดท้าย ใจแตก แหลกสลาย ทั้งพ่อทั้งแม่ ครอบครัวพังทลาย 

3. “อย่าใจตก ทุกข์ภัย อย่าไหวกลัว” เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เมตตาสอนว่า คนจะเสียคนอยู่ 2 คราว คือ คราวที่สุขที่สุด และคราวที่ทุกข์ที่สุด ส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปในคราวที่ทุกข์ที่สุด เวลาทุกข์ขึ้นมา มองเห็นใครก็เป็นศัตรูไปหมด เห็นใครก็กลัวว่าจะมาซ้ำเติม จึงเก็บตัว ซึมเศร้า สุดท้ายก็จบชีวิต เอาเข้าจริง ชีวิตเราไม่ค่อยได้อะไรจากความสุข เรามักได้จากความทุกข์เป็นหลัก ความสุขอาจทำให้เราเหลิงจนหลงผิด แต่ความทุกข์เป็นอุปกรณ์ให้เราเรียนรู้และประคองชีวิต อย่าทุกข์จนเกินจริง อย่าสุขจนเกินไป 

4. “อย่าใจต่ำ ทำชั่ว มั่วโลกีย์” คนใจต่ำ มักแสดงออกทางคำพูดและการกระทำ ดังนั้น อย่าให้ราคากับคนใจต่ำมาก และเราต้องระวังใจเราอย่าให้ต่ำ เหมือนน้ำที่ปกติไหลลงสู่ที่ต่ำ ใจคนก็เช่นกัน เราต้องประคองใจ รักษาใจไว้ให้ดี แต่งกายงาม อย่าลืมแต่งใจให้เย็น เราอาบน้ำวันละสองรอบ อย่าลืมล้างใจเราด้วยนะ 

ภาษาพระท่านกล่าวว่า “การทำงานคืออุบายเลี้ยงดูชีวิต” อยู่ในตำแหน่งสูงหรือตำแหน่งต่ำ ถ้าใจต่ำก็ทำชั่วได้หมด ที่เราอยู่กันทุกวันนี้ เพราะเราข่มใจได้ เราประคองใจของเราไม่ให้ตกต่ำ เพราะกรรมและวิบากของแต่ละคน กฎแห่งกรรมจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าเราทำความถูกต้อง บริสุทธิ์ ไม่ต้องกลัวกรรม เพราะกรรมดีของเราทำงาน แต่ถ้าเราทำผิด เดี๋ยวกรรมชั่วก็ทำงานตามหน้าที่ไป    

โลกธรรม คือ สิ่งธรรมดาของโลก มี 8 อย่าง “ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์” มีสุขก็โลกธรรม มีทุกข์ก็โลกธรรม คนชมเรามากๆ ก็อย่าเหลิง และควรให้ความสำคัญกับคนที่ตำหนิเราด้วย บางครั้ง คนที่ตำหนิเรา เป็นกัลยาณมิตรชี้ขุมทรัพย์ให้เราก็ได้  

พระท่านสอนว่า “อย่าไปหลง อย่าไปเพลิดเพลิน กับโลกธรรม” ความสุขของโยม ก็เป็นโลกธรรม ความทุกข์ของอาตมา ก็เป็นโลกธรรมเช่นนั้นเอง เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น เดี๋ยวก็คืนลง เป็นธรรมดา เมื่อได้ก็ดี เมื่อมีก็สุข แต่บางคนไม่ได้ก็ดี ไม่มีก็สุข เพราะสุขที่ใกล้ตัว สุขระหว่างทางการทำงาน อย่าลืมเก็บความสุขเล็กๆ เพื่อเจือจางให้ทุกข์เบาบาง 

เปิดประเทศแล้ว อย่าปิดใจนะโยม ประคองใจให้ดี เหนื่อยกว่านี้โยมก็ผ่านมาแล้ว ทุกคนก็มีหน้าที่ เราก็ทำหน้าที่กันไป แต่หน้าที่หนึ่งของทุกคนที่สำคัญคือ อย่ามัวเป็นนักโทษ  โทษโน้น โทษนี่ เป็นอย่างนี้ เพราะอย่างนั้น เป็นอย่างงั้น เพราะมีคนอย่างนี้ ใครจะเป็นผู้บริหารชีวิตเราได้ดี เท่ากับเราบริหารใจเราเอง 

อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยนะโยม เพราะคือการปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งโลก 

…………………………………………..

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี