เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่รายงานการวิจัยของไทย พบคุณแม่ให้นมลูกมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้ำนม ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการวิจัยพบว่า เป็นผลการวิจัยของคนไทย ได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ปี 2024 ในรายละเอียดคณะผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างคุณแม่ที่อยู่ระหว่างการให้นมลูก 59 คน พบว่ามีไมโครพลาสติก 38.9% กลุ่มที่เจอคือโพลีโพรพิลีน (PP), โพลีเอทิลีน (PE), โพลีสไตรีน (PS) และโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งสิ่งที่เจอนี้ ทางผู้วิจัยได้มีการศึกษาบริบทอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ สุขลักษณะของแม่ และภาวะแทรกซ้อนของการให้นมบุตร มีสิ่งที่พบที่น่าสนใจ เช่น กรณีคุณแม่ให้น้ำนมที่มีไมโครพลาสติกนั้น ยังพบเชื้อแบคทีเรียตัวที่สะท้อนสุขอนามัยของคุณแม่ด้วย เป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคที่เกิดจากการปนเปื้อนของผิวหนัง โดยจะเจอในคุณแม่ที่พบไมโครพลาสติกในน้ำนมมากกว่ากลุ่มคุณแม่ที่ไม่เจอไมโครพลาสติกในน้ำนม

ดังนั้น ตรงนี้จึงไปสะท้อนต่อว่า น้ำนมของแม่ที่เจอไมโครพลาสติกนั้นยังเจออย่างอื่นด้วยหรือไม่ ซึ่งก็พบว่า แม่ที่เจอไมโครพลาสติกนั้น มีเรื่องของการล้างมือทั้งก่อน และหลังการให้นมลูกน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เจอ ซึ่งกลุ่มที่ไม่เจอไมโครพลาสติกนั้น จะมีเปอร์เซ็นต์การล้างมือก่อน และหลังการให้นมลูกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่การใช้น้ำยาทำความสะอาดชุดชั้นใน หรือซักล้างเสื้อผ้าทารก ในกลุ่มแม่ที่ไม่เจอไมโครพลาสติกก็มีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า นี่จึงทำให้เกิดความเชื่อมโยงว่า พฤติกรรมสุขภาพก็สัมพันธ์กับระดบไมโครพลาสติกที่เจอในนมแม่ และไม่แปลกใจว่า ในกลุ่มแม่ที่เจอสารดังกล่าวจะเกิดภาวะเต้านมอักเสบได้มากกว่า เต้านมคัด สะท้อนว่ามีการอุดตันท่อน้ำนมเยอะกว่า น้ำนมน้อยกว่า ผลลัพธ์ในการให้นมไม่ดีไปทั้งหมด

พญ.อัมพร กล่าว่วา การที่ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการรับประทาน เพราะมันสามารถปนอยู่ในอาหาร น้ำดื่มได้ การใช้พลาสติกที่ทำให้เกิดไมโครพลาสติกมาละลายอยู่ในน้ำได้ หรืออาจจะปนอยู่กับบรรจุภัณฑ์สำหรับเลี้ยงลูกที่อาจจะไม่มีคุณภาพดีพอก็ได้ รวมถึงสามารถมาจากมลพิษทางอากาศ สูดดมเข้าไป หรือปนผ่านเครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ  และยังต้องนึกถึงแม่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม่ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์หนาแน่น  ซึ่งอาจจะมีไมโครพลาสติกปะปนได้สูง อย่างไรก็ตาม เมื่อไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแม่แล้ว มีโอกาสที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ก็เป็นไปได้ แต่การที่เข้าไปสู่น้ำนมแม่ได้อย่างไรนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมกันอีก แล้วมันไหลปนออกมาจากน้ำนมแม่เลยจริงหรือไม่ หรือเกิดจากการที่ไมโครพลาสติกปนอยู่ในภาชนะเก็บน้ำนมให้เด็กกิน หรือส่งตรวจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไมโครพลาสติกสามารถขับออกจากร่างกายได้ผ่านปัสสาวะ และเหงื่อได้

เมื่อถามถึงผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก พญ.อัมพร กล่าวว่า ณ เวลานี้มีการให้ความสำคัญ แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวเกี่ยวกับการได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเด็กทารก ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่แน่นอนว่าเรามีความห่วงใย และติดตามว่าจะส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อหรือไม่ การสะสมจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวหรือไม่ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่เรากำลังติดตามกันอยู่เหมือนกัน

“เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวมีการนำเสนอเกี่ยวกับน้ำนมแม่ สิ่งที่เราห่วงคือ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การดื่มนมแม่จะมีปัญหาไมโครพลาสติก แต่เรายืนยันว่า อาหารทารกที่ดีที่สุดคือนมแม่ แต่การจะปกป้องทารกจากไมโครพลาสติก คือการที่แม่จะต้องมีสุขอนามัยที่ดี เรื่องการล้างมือ การดูแลทารกตามข้อแนะนำที่ถูกต้อง การเตรียมน้ำนมสำหรับทารกนั้น แม่ทั้งหลายควรลดภาชนะพลาสติกในการบีบเก็บ อุ่นน้ำนม ถ้าคุณแม่ปกป้องตัวเองจากการใช้ภาชนะพลาสติกที่เสริมโอกาสให้ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ก็จะลดความเสี่ยงที่ไมโครพลาสติกจะเข้าสู่ร่างกายทารกด้วย” พญ.อัมพร กล่าว

เมื่อถามถึงมาตรฐานหรือเกณฑ์ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า การตรวจพิสูจน์ไม่ได้ง่ายนัก แต่เรื่องนี้ต้องมีการกำกับดูแล กลไกของกรมอนามัยไม่ได้กำกับดูแลมาตรฐานตรงนี้ แต่จะมีหน่วยงานอื่นเป็นผู้กำกับ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อนึ่ง รายงานดังกล่าวพบว่า จากคณะผู้วิจัยมาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.