ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจและสมอง นอกจากนี้ วิตามินดียังมีส่วนสำคัญในการสร้างสารเซโรโทนินที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ 

ปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์ต้องมีระดับวิตามินดีในเลือดระหว่าง 20-40 นาโนกรัม/มิลลิลิตร เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดี หากร่างกายมีระดับวิตามินดีที่ต่ำกว่านี้อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะสำคัญๆ

เมื่อร่างกายไม่มีวิตามินดีเพียงพอต่อการทำงาน ร่างกายจะส่งสัญญาณผ่านอาการต่างๆ ภาวะกระดูกพรุนและความอ่อนล้านั้นชัดเจนว่ามักจะเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินดี แต่ก็มีสัญญาณอื่นๆ อีกหลายประการที่มักจะโดนมองข้าม ซึ่งหากสามารถระบุอาการผิดปกติเหล่านี้เสียแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาวได้

สำหรับ “สัญญาณเตือน” หรืออาการผิดปกติเมื่อร่างกายเริ่มขาดวิตามินดี แต่มักถูกมองข้าม ได้แก่

1. อาการปวดกล้ามเนื้อที่หาสาเหตุไม่ได้และมักเป็นอาการปวดเรื้อรัง

2. อารมณ์แปรปรวนบ่อย อารมณ์เสียง่าย วิตกกังวลง่าย หรืออาจถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้า

3. มีเหงื่อออกมากเกินไปหรือมากกว่าที่เคยเป็นที่บริเวณศีรษะ หน้าผากหรือใบหน้า

4. ผมร่วงมากโดยหาสาเหตุไม่ได้ 

5. ระบบทางเดินอาหารมีปัญหาบ่อยๆ มีอาการท้องอืด ท้องเสีย เป็นโรคลำไส้แปรปรวน

หากเริ่มมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์และรับการตรวจวัดระดับวิตามินดีในร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มระดับวิตามินดีในร่างกาย ดังนี้

– อาบแดดอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที และควรเลือกอาบแดดในตอนเช้าระหว่าง 07.00-10.00 น.

– รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินดี ได้แก่ ปลาที่มีไขมัน (เช่น ปลาแซลมอน, ปลาทู, ปลากะพง), ไข่แดง, ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมสัตว์ (เช่น นม, โยเกิร์ต, เนยแข็ง), เห็ดต่างๆ 

– หากจำเป็น ให้รับประทานอาหารเสริมวิตามินดีประเภท D3 ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

ที่มา : timesofindia.indiatimes.com

เครดิตภาพ : Peggy und Marco Lachmann-Anke from Pixabay