เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ (สลก.ทร.) มีกำหนดนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมหน่วยงานของกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ปริมณฑล พื้นที่เขตบางนา โดยในการเยี่ยมชมนั้นแต่ละจุดประกอบไปด้วย 1.การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการติดตั้งบำบัดฝุ่น ฯ ของกรมอู่ทหารเรือ 2.การสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาของหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) กองเรือยุทธการที่ 401 3.การจัดเลี้ยง และการฝึก สหโภชน์ประจำเรือ ของกรมพลาธิการทหารเรือ 4.การจัดทำแผนที่เดินเรือ แผนที่ทะเล และการรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยของกรมอุทกศาสตร์ 5.ศึกษาประวัติศาสตร์ป้อมผีเสื้อสมุทร และป้อมพระจุลจอมเกล้าในความดูแลของฐานทัพเรือกรุงเทพ

เมื่อเวลา 7.30 น. พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนพร้อมอธิบายกำหนดการการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแต่ละจุดของหน่วยงานกองทัพเรือ ก่อนที่เวลา 09.00 น. สลก.ทรจะพาสื่อมวลชนลงพื้นที่จุดแรกที่เยี่ยมชมจุดบริเวณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม โดยเป็นการติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และการติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ ของกรมอู่ทหารเรือ โดยมี พล.ร.ต.พันณรงค์ ยุทธวงศ์ เลขานุการกองทัพเรือ , น.อ.อัคคณัฐ รุ่งสิตา ผอ.กองประชาสัมพันธ์ , น.ท.คีรีรัฐ บุญทองดี นายช่างแผนกสำรวจและตรวจสอบ , นายอนนต์ อัตถวิบูลย์ ผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด รอให้การต้อนรับ 

ทั้งนี้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (ปตท.) สนับสนุนการสร้างเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว และได้มอบเครื่องบำบัดอากาศ ฯ จำนวน 14 เครื่อง ให้แก่กองทัพเรือ เมื่อ 4 ก.ค. 2565 นอกจากนี้กองทัพเรือ ได้ออกแบบและสร้างเครื่องบำบัดอากาศ ฯ ขึ้นเอง อีกจำนวน 5 เครื่อง ในช่วง2563 – 2564 และล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 ผลการวัดค่าฝุ่น PM2.5 พบว่ามีปริมาณต่ําลงจากก่อนติดตั้งเครื่องบําบัด

จุดติดตั้งเครื่องบำบัดอากาศ ฯ ใน กทม. ได้แก่ 1.ลานจอดรถยนต์ ร้านค้าสวัสดิการ วังนันทอุทยาน 1.ศูนย์การค้าไอคอน สยาม 2.ริมถนนอิสรภาพ ด้านหน้า กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทร.) วังนันทอุทยาน 2.บริเวณทางลงสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สนามไชย 3.โถงชั้น 1 บก.ทร. วังนันทอุทยา  3.ท่าน้ำท่าเตียน 4.บก.ทร. พื้นที่พระราชวังเดิม 4.โรงเรียนสตรีวัดระฆัง 5.ริมถนนวังเดิม ด้านหน้า บก.ทร. วังเดิม 6.โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า 7.ฐานทัพเรือกรุงเทพ 8.อาคารผู้ป่วยนอก รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า 9.หน้าร้านสะดวกซื้อรพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า 10.ริมถนนมหาราช ด้านหน้าราชนาวีสโมสร 11.ริมถนนอรุณอมรินทร์ ด้านหน้ากองบัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ (บก.ฐท.กท.) 12.ริมถนนอรุณอมรินทร์ ด้านหน้าหอประชุม ทร. 13.กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ 14.โถงชั้น 1 กรมอุทกศาสตร์

ด้าน พล.ร.ต.พันณรงค์ ยุทธวงศ์ เลขานุการกองทัพเรือ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝุ่นPM2.5 เป็นวาระแห่งชาติจะมีมาตรการในการจัดการปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างไร ว่า กองทัพเรือมีการพัฒนาเครื่องบำบัดฝุ่นมาตั้งแต่ปี 2564 และมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการเน้นย้ำว่าให้กองทัพเรือมีการคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไป พื้นที่ไหนที่สามารถติดตั้งเครื่องได้ และสามารถลดมลพิษได้เรา ก็จะนำเครื่องไปติดตั้ง  เช่น เขตคลองสานก็ได้มีโครงการอากาศดีที่คลองสาน โดยทำร่วมกับไอคอนสยาม และกองทัพเรือตั้งแต่ปี 2567 เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ มีทั้งหมดกี่เครื่อง พล.ร.ต.พันณรงค์ กล่าวว่า ที่บริเวณ ไอคอนสยาม มีทั้งหมด 3 เครื่อง แต่ทางกองทัพเรือตั้งไว้มีทั้งหมด 18 จุด โดนอยู่ในพื้นที่ดูแลของกองทัพเรือเอง เช่น โรงพยาบาลและพื้นที่ชุมชน 14 จุด และนอกเขตดูแลของกองทัพเรืออีก 4 จุด ส่วนในอนาคตจะมีการเพิ่มเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ หรือไม่นั้น มีแน่นอน ทีมวิจัยของกองทัพเรือพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากมีกำลังถึงและศักยภาพเพียงพอก็จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีกองทัพเรือจะมีแผนงานในการที่จะแจกจ่ายเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ ให้หน่วยงานอื่นหรือไม่นั้น เบื้องต้นเราพยายามช่วยหน่วยงานเราก่อน หากในอนาคตทำได้มากขึ้นเราก็จะจัดการช่วยเหลือต่อไป 

ขณะที่ น.ท.คีรีรัฐ บุญทองดี นายช่างแผนกสำรวจและตรวจสอบ กล่าวว่า ตัวเครื่องบำบัดเอง มีประสิทธิภาพอยู่ที่ระดับ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากการใช้งานใช้อยู่ในบริเวณที่โล่ง ก็อาจจะได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง อาจจะไม่ถึงระดับ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าส่งผลดีต่อสภาพอากาศที่มีประชาชนอยู่แน่นอน ส่วนกรณีงบประมาณในการดำเนินการในการสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ นั้น ในส่วนของเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ มีทั้งหมด 3 รุ่น โดยรุ่นที่ 3 งบประมาณต่อเครื่อง อยู่ที่จำนวน 5-6 แสนบาท/เครื่อง ส่วนในอนาคตจะมีการพัฒนาหรือผลิตเครื่องออกมาอีกจำนวนเท่าไหร่นั้น ตามโครงการเมื่อปี 2567 กรมอู่ทหารเรือได้มีการเสนอเรื่องไปยังกองทัพเรือ ได้มีการขอเพิ่มในส่วนของเครื่องบำบัดฝุ่นรุ่นที่ 3 โดยร้องขอไปจำนวน 6 เครื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ 

ด้าน นายอนนต์ อัตถวิบูลย์ ผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ทางไอคอนสยาม อยากจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะเป็นผู้ช่วยนำเทคโนโลยีที่กองทัพเรือผลิตขึ้นมา มาทดลองใช้งาน ถ้าในระยะ 15 เมตรจากเครื่องบำบัดฝุ่น ฯ จะสามารถลดฝุ่นได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างต่ำ โดยมีการวัดคุณภาพฝุ่นวันละ 2 ครั้ง อีกทั้งภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตนคิดว่าการใช้พลังงานที่จะนำมาใช้งานอย่างต่อเนื่องมีส่วนสำคัญ ทางเรามีพลังงานที่ผลิตจากโซล่าเซลล์อยู่แล้ว จึงนำมาจ่ายไฟให้กับเครื่องบำบัดฝุ่นในการใช้งานทุกวัน โดยจะเป็นการลดโลกร้อนไปด้วย และในอนาคตจะมีการร่วมมือกับกองทัพเรือเพิ่มเติม ในการที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาชีวิตของสังคมไทย 

เมื่อเวลา 10.30 น. สื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมจุดที่ 2 ที่กองเรือลำน้ำกองเรือยุทธการ ได้จัดกำลังพลและยุทโรปกรณ์ประกอบกำลังในหน่วยฉก.กองเรือยุทธการที่ 401 ในการให้ความปลอดภัยและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ตลอดลำแม่น้ำเจ้าพระยา ปฏิบัติหน้าที่ในการให้การช่วยเหลือประชาชน โดยมี น.ท.สิทธิกร ขาวหิรัญ หัวหน้าแผนกกำลังพลกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ รอให้การต้อนรับ และจัดเตรียมความพร้อมของเรือ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือทั้งรูปแบบใหม่และรูปแบบเก่า รวมถึงการจัดการอบรมการช่วยชีวิตให้กับกำลังพลของกองเรือลำน้ำ ที่จะปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ในการนี้ แบ่งกำลังออกเป็น 5 หน่วย ดังนี้ 1.หน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่ 1 พื้นที่ สะพานธนบุรี – สะพานพระนั่งเกล้า 2.หน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่ 2 พื้นที่ สะพานพระนั่งเกล้า – สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3.หน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่ 3 พื้นที่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า – สะพานภูมิพล 1 4.หน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่ 4 พื้นที่ สะพานภูมิพล 1 – ท่าเรือพระประแดง 5.หน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำที่ 5 พื้นที่ ท่าเรือพระประแดง – ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

น.ท.สิทธิกร ขาวหิรัญ หัวหน้าแผนกกำลังพลกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือพลเรือนทางน้ำหรือไม่ เนื่องจากมีเทคโนโลยีแพชูชีพสมัยใหม่ในการเข้ามาช่วยเหลือ ว่า หากอยู่ในพื้นที่ไกลเกินกว่าระยะวิทยุหรือหากเกิดขึ้นลมแรง อาจจะเป็นอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยีแพชูชีพ ทั้งนี้ เทคโนโลยีแพชูชีพมีใช้แค่หน่วยฉก.กองเรือยุทธการที่ 401 ที่ใช้เท่านั้น ส่วนกรณีมีข้อผิดพลาดหรือไม่ หลังจากมีการทดลองใช้แพชูชีพนั้น หากพลเรือนน้ำหนักตัวที่เยอะ และจำเป็นต้องช่วยหลายคนพร้อมกัน  ก็จะเกินกำลังตัวกำลังของเครื่องแพชูชีพ 

ภายหลังจากที่เยี่ยมชมพื้นที่จุดที่ 2 แล้วเสร็จ เมื่อเวลา 11.00 น. ได้เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมจุดที่ 3 โรงเรียนพลาธิการกรมพลาธิการทหารเรือ ที่ผลิตกำลังพลด้านพลาธิการ ทั้งนี้มีหลักสูตรอาชีพเพื่อเลื่อนฐานะชั้นจ่าเอก (บริการ-สหกชน์) ได้แก่ 1.การทําอาหารแกงเผ็ดเป็ดย่างขนมต้ม 2.การชงเครื่องดื่มบลูฮาวาย 3.การแกะสลักผักผลไม้ โดยตลอดการเยี่ยมชมพื้นที่ มีนายกฤษณชนม์ รัศติลัก ครูฝึกอาชีพลงเรียนพลาธิการ กรมพลาธิการทหารเรือ คอยกำกับดูแล และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแกะสลักผลไม้ในรูปแบบลวดลายต่าง ๆ รวมถึงในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน ได้มีการแสดงดนตรีสดและเสิร์ฟอาหารตามหลักสูตรของโรงเรียนพลาธิการกรมพลาธิการทหารเรือ เพื่อให้สื่อมวลชนรับรู้ถึงหลักสูตรที่เรียนรู้จริง ปฏิบัติจริงอย่างมืออาชีพ

ภายหลังจากที่เยี่ยมชมพื้นที่จุด 3 แล้วเสร็จ เมื่อเวลา 13.30 น. เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่จุดที่ 4 กรมอุทกศาสตร์ (อศ.) กองทัพเรือ โดยมี น.อ.ฉัตรชัย เหลืองทองคำ ผู้อำนวยการภูมิสารสนเทศทางอุทกศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลกรองข่าวภูมิสารสนเทศทางอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ให้การต้อนรับและพาชมการปฏิบัติงานของ อศ. ในการรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย การทำแผนที่ทะเล – แผนที่เดินเรือ และเยี่ยมชมหอประวัติอุทกศาสตร์ไทย อีกทั้งหลังจากลงพื้นที่เยี่ยมชมจุดที่ 4 แล้วเสร็จ และเมื่อเวลา 14.30 น. ได้ออกเดินทางไปลงพื้นที่จุดที่ 5 ป้อมผีเสื้อสมุทรและป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นจุดตรวจสุดท้าย โดยมี น.อ.จตุรงค์ ชมภู ผู้บังคับป้อมพระจุลจอมเกล้าฐานทัพเรือกรุงเทพ รอให้การต้อนรับ และได้พาสื่อมวลชนสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ โดยมีทั้งปืนเสือหมอบ เรือหลวงแม่กลองและศึกษาภูมิประเทศบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา

///