เมื่อวันที่ 21 ก.พ.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การส่งเสริมและการเตรียมความพร้อมสู่การยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ในกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (การนำเสนอผลงานระดับจังหวัดเชียงราย) เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ร่วมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1-4 และคณะครูในจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วม ณ ห้องประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
.
สำหรับการบรรยายดังกล่าว อยู่ในกิจกรรมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (การนำเสนอผลงานระดับจังหวัดเชียงราย) ภายใต้โครงการพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดเชียงราย ให้เป็น Learning Coach ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ขับเคลื่อนด้วยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษที่ 21 ปีที่ 2 และโครงการการจัดการเรียนการสอนรายวิชาแบบบูรณาการ โดยใช้ STEM ศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการดำเนินโครงการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ต่อยอดจากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของครูในด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อสำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้นำกระบวนการ PLC มาใช้เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูในพื้นที่ ทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพของครูอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย สพม.เชียงราย จำนวน 17 คน สพป.เชียงราย เขต 1 จำนวน 18 คน สพป.เชียงราย เขต 2 จำนวน 18 คน สพป.เชียงราย เขต 3 จำนวน 17 คน และสพป.เชียงราย เขต 4 จำนวน 17 คน รวมทั้งสิ้น 87 คน
.
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวในการบรรยายตอนหนึ่งว่า การยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำการสร้างคุณภาพผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่ เพื่อให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” หนึ่งในนั้นคือการยกระดับคุณภาพตามมาตรฐาน PISA ซึ่งในการสอบ PISA จุดมุ่งหมายที่สำคัญมิใช่คะแนนที่เพิ่มขึ้น แต่ผลการสอบจะเป็นตัววัดผลที่ทำให้ สพฐ. สามารถนำมาทบทวน แก้ไข ปรับปรุงให้ตรงจุดนำมาสู่การพัฒนาผู้เรียนทั้งประเทศ สิ่งที่ได้รับแนวคิดมาจาก รมว.ศธ คือ จะทำอย่างไรให้นักเรียนมีกระบวนการอ่าน กระบวนการคิด วิเคราะห์ ถ่ายทอดสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพ ทุกกระบวนการต้องถูกเติมเต็มโดยพวกเราทุกคน อีกทั้งข้อสอบของ PISA จะมีลักษณะให้นักเรียนเกิดการคิด วิเคราะห์ มีเหตุผลในการตัดสินใจ ทำการ Apply จนเกิดการ Create ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะติดตัวนักเรียนในอนาคต
.
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมระยะยาวจึงเป็นแนวทางสำคัญที่ สพฐ. วางแผนดำเนินการโดยปรับเปลี่ยนเครื่องมือในการวัดผลนักเรียนเป็นแนวทาง Formative assessment สพฐ. ต้องมีกระบวนการที่จะเพิ่มเครื่องมือให้เด็กได้คิดแบบนักวิทย์ แต่เติมกระบวนการที่เป็นคอนเทนต์แล้วแต่ความถนัดและความสนใจของนักเรียน นำไปสู่การวางแผนการดำเนินการ จนกลายเป็นความฉลาดรู้ และระบุตัวชี้วัดเพื่อให้ครูผู้สอนได้หยิบไปใช้ได้ตรงตามการจัดการเรียนการสอน โดยมีแนวทางการดำเนินการอื่น ๆ อาทิ 1) ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ทั้ง 3 โดเมน (การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์) ให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้สู่
ห้องเรียน ซึ่งมีโรงเรียนสามารถดำเนินการได้คิดเป็นร้อยละ 87.89 2) ทักษะการใช้ Computer-Based test ทั้งระบบ Online/Offline 3) การอบรมการสร้างข้อสอบตามแนวทางข้อสอบ PISA ทำให้นักเรียนมีโอกาสคิด วิเคราะห์ 4) การเตรียมความพร้อมให้เด็กมีกระบวนการคิดแบบนักวิทย์ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยมอนเตสเซอรี่ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย วิทยาศาสตร์พลังสิบระดับประถม-มัธยมศึกษา และการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ
.
“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปรับปรุงตัวชี้วัด จากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่มีตัวชี้วัดเดิม 2,000 กว่าตัวที่ต้องวัดผลเพื่อให้มีร่องรอยหลักฐาน สพฐ. ได้ปรับปรุงเหลือ 771 ตัวชี้วัดหลักที่ต้องมีร่องรอยหลักฐาน ส่วนตัวชี้วัดที่เหลือ 1,285 ตัวชี้วัด ไม่ต้องจำเป็นต้องมีร่องรอยหลักฐานแต่ต้องนำมารวมกันบูรณาการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน ในรูปแบบ Active learning โดยครูต้องเป็นผู้ที่คอยดูเด็กและคอยเติมส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้มาตรฐานของหลักสูตรที่แท้จริง รวมถึงการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้และการเรียนรู้ที่ทันสมัยเข้าถึง GEN นักเรียน ครูผู้สอนต้อง PLC ร่วมกันใช้แหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา มีการวางแผนและเชื่อมโยง KPI ของแต่ละวิชาร่วมกัน ส่วนการวัดและประเมินผลระดับชาติเพื่อนำไปสู่การเติมเต็มนักเรียน การเชื่อมโยง O-NET/NT/RT/PISA ยังคงมีความสำคัญ และต้องบูรณาการร่วมกัน สุดท้ายคือการจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้กับนักเรียน เช่น การจัดการแข่งขัน PISA GAMIFICATION/Platform การเรียนรู้สู่นวัตกร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และ Starfish Education หรือการให้บริการวิชาการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกันเป็นเครือข่ายความเข้มแข็งทางวิชาการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนกิจกรรมค่าย OBEC YOUTH CAMP เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการยกระดับศักยภาพของครูซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทยให้ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ ในการจัดกรรมดังกล่าว ยังมีการแสดงผลงานวิชาการของครูทั้ง 176 ผลงาน เพื่อให้โรงเรียนที่สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการเปิดเวทีให้ครูในโครงการที่ชนะเลิศการนำเสนอผลงานระดับเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 11 คน ประกอบด้วยครูจากโครงการ PLC จำนวน 5 คน และครูจากโครงการ STEM จำนวน 6 คน มาประกวดแข่งขันการนำเสนอผลงานด้วยวิธีการ Pitching เพื่อเฟ้นหาสุดยอดครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับจังหวัดของทั้ง 2 โครงการอีกด้วย