นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอสไอเอส   เปิดเผยว่า  จากการที่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยกำลังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเชื่อมต่อเครื่องจักรและระบบอุตสาหกรรมเข้ากับอินเทอร์เน็ตเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผล และวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น  โดยการ์ทเนอร์ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 องค์กรต่างๆ ในประเทศไทย จะมีการผสานแพลตฟอร์มไอที-โอที(IT-OT)  พร้อมกับมีการใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น เพื่อรับข้อมูลจากจุดต่างๆ ในเครือข่าย และปรับปรุงการดำเนินงานของโรงงาน

นอกจากนั้น ภาครัฐของไทยยังสนับสนุน เพื่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 จากแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการผลักดันให้เกิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ในทุกภาคส่วน ช่วยผลักดันให้ไทยก้าวจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงหรือระบบอัจฉริยะ โดยดีป้าคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ในปี 2568 ของภาคอุตสาหกรรม จะมีมูลค่ารวม กว่า 1.8 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 15.52๔ จากปี 2567

นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า จาก แนวโน้มดังกล่าว เอสไอเอส จึงได้ร่วมกับซีเมนส์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทางด้านอุตสาหกรรม โดยเอสไอเอสได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของซีเมนส์ (Authorized Distributor)ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์โรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) และกลุ่มอุปกรณ์เชื่อมโยงระบบดิจิทัลและอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า (Digital Connectivity and Power) โดยได้เพิ่มบุคลากรและตั้งทีมงานเพื่อดูแลรับผิดชอบกลุ่มผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ โดยเราตั้งเป้ายอดขายสำหรับผลิตภัณฑ์ซีเมนส์ 100 ล้านบาทสำหรับปี 2568

 ด้านนายรอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า ซีเมนส์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับเอสไอเอส โดยความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการก้าวสำคัญในการขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ Factory Automation และกลุ่ม Digital Connectivity and Power ในไทยซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และเทคโนโลยีปฏิบัติการ (OT) หรือไอที-โอที คอนเวอร์เจนซ์ (IT-OT Convergence)

โดยมีเป้าหมายเพื่อผสานรวมระบบการทำงานอัตโนมัติ การสื่อสารเชิงอุตสาหกรรม และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการบูรณาการ ไอทีและ โอที การให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของโอทีในการปกป้องสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีโซลูชันที่แข็งแกร่งและครอบคลุมรอบด้านเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่ระบบดิจิทัลมีประสิทธิภาพสูงสุด