ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทรงพร ยองใย ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับ นายเอนก ไชยวุฒิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สุพรรณบุรี นายพัลลภ อ่อนศรี พนักงานพัฒนาลูกค้า 9 สำนักงาน ธ.ก.ส.สุพรรณบุรี นายมนตรี เกียรติกสิกร พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 สำนักงาน ธ.ก.ส.สุพรรณบุรี จัดอบรมโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง และเปิดโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ ระยะที่ 2 ตามนโยบายของรัฐบาล 3 ลด 3 เพิ่ม 3 สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยมี น.ส.สุดาวรรณ สิรวณิชย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ร่วมกับ นายชาตรี รักธรรม ที่ปรึกษากลุ่มฯ เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไส้เดือน ระบบโรงเรือนประหยัดพื้นที่ โรงเรือนปลูกผักชนิดต่างๆ การทำข้าวเกรียบผลไม้ การปลูกมะเขือเทศ และการแปรรูปมะเขือเทศ พร้อมนำเยี่ยมชมแปลงเกษตรกรรม และโรงเรือนต่างๆ ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง รวมถึงเกษตรกรลูกหนี้รายย่อย ธ.ก.ส. ที่เข้ารับการอบรมฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้า จำนวน 120 ราย ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง เลขที่ 11 หมู่ 14 บ้านเนินสมบัติ ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

นายทรงพร ยองใย ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก กล่าวว่า สำนักงาน ธ.ก.ส.สุพรรณบุรี ได้เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง เพื่อการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ ในการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพเดิม และสร้างอาชีพเสริมของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ เพิ่มผลผลิต เพิ่มมาตรฐานผลผลิต และผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความสามารถในการชำระหนี้ เพิ่มทักษะของเกษตรกรให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ในการประกอบอาชีพ ให้มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้กรอบพัฒนา”3 ลด 3 เพิ่ม 3 สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยบูรณาการความร่วมมือกับส่วนงานราชการ ในการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเดิม เสริมอาชีพใหม่ เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีทำ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ให้ความรู้ทางการเงิน การวางแผนการผลิต และการฝึกอาชีพเสริมระยะสั้น การพัฒนาอาชีพ เพื่อเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มคุณภาพ และให้ความรู้ทางการเงิน

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ถือได้ว่าได้รับโอกาสทองในการพักชำระหนี้ และการส่งเสริมให้มีทุนหมุนเวียน จากการที่จะต้องรวบรวมเงินส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ ก็จะได้เอาเงินนั้นไปปรับปรุงแปลงเกษตร หรือว่าไปต่อยอดงานอาชีพ ให้เกิดสภาพคล่อง สามารถวางแผนการเงิน จัดการเงินดอกเบี้ย เงินต้น โดยไม่เสียเครดิต โครงการดีๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทำมาหากินในสภาพคล่อง ช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.