เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ว่า เนื้อหาญัตติเสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งในวันที่ 27 ก.พ. คงจะมีการยื่นต่อประธานสภา ส่วนกรอบระยะเวลาในการอภิปราย ยืนยันว่าเราขอประมาณ ​5 วัน และอยากส่งเสียงไปยังพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก เพราะเราเคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน ในสภาชุดที่ 25 มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมด 4 ครั้ง และทุกครั้งใช้เวลา 4 วัน ทุกท่านคงทราบดี ซึ่งหลายท่านก็อวดอ้างตัวเองว่าเก๋าเกมทางการเมือง รู้เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล และในสมัยที่แล้ว ท่านก็ขอวันอภิปรายไปกับฝ่ายรัฐบาล 5 วันทุกครั้ง หวังว่าได้เป็นรัฐบาลแล้วก็คงจะไม่ลืมว่าประเทศนี้ยังมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยสภาระหว่างฝ่ายค้านที่เป็นนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอยู่ และยืนยันว่าฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องให้เวลากับฝ่ายค้านเต็มที่ ซึ่งตนคาดว่าจะไม่มีข้ออ้างเรื่อง ครม. หรือนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ เพราะนี่คือภารกิจตามรัฐธรรมนูญ​ในการมาชี้แจงต่อสภา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เมื่อถามว่า การอภิปรายรัฐบาลที่จะถึงนี้ ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ​ คาดหวังให้ ครม. มาตอบชี้แจงหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ใช่ความคาดหวัง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี ไม่ใช่ถูกถามคำถามหรือถูกตั้งคำถาม แล้วไม่มีการมาตอบชี้แจงเลย หรืออาจจะให้ใครในพรรคคอยลุกขึ้นประท้วงไม่ให้ฝ่ายค้านพูด นี่คือหน้าที่ของรัฐมนตรี ที่เมื่อถูกซักฟอกไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านไหนก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่ต้องชี้แจง ประชาชนจะได้ฟัง 2 ด้าน ว่าฝ่ายค้านกล่าวหาว่าอะไร และรัฐมนตรีชี้แจงว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านพูดไปนั้น ถูกต้องหรือไม่

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานายกฯ ระบุว่า เก็งข้อสอบไว้บ้างแล้ว ในวิปฝ่ายค้านได้มีการคุยกันหรือไม่ว่าข้อสอบอาจจะรั่ว นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เราไม่กังวลเรื่องข้อสอบรั่ว หรือหากรั่ว ถ้าสิ่งที่เราพูดคือข้อเท็จจริง ก็วัดกันในสภา ว่าข้อมูลที่เราพูดไป กับสิ่งที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีจะชี้แจงกลับมา สังคมจะให้น้ำหนักกับฝั่งไหนมากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าวันที่ 27 ก.พ. น่าจะรู้ว่ามีประเด็นใดบ้าง และผู้นำฝ่ายค้านจะนำแถลงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

เมื่อถามว่า จากเสถียรภาพของรัฐบาล ทางฝ่ายค้านมีลุ้นเรื่องการลงคะแนนหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นการพูดคุยของพรรคร่วม และหากถามว่าคาดหวังหรือไม่นั้น ทุกครั้งที่เราอภิปราย สิ่งที่เราคาดหวังมากคือ สังคมจะเห็นว่าข้อมูลที่มีจะสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพ ความทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอย่างไร ส่วนการลงมติเป็นเรื่องของการเมืองเป็นหลัก

“เราหวังว่าการลงมติ หรือการไปล็อบบี้เพื่อลงมติไว้วางใจ จะไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างพรรคการเมือง เพื่อให้ลงมติไว้วางใจ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง และคาดหวังว่าทุกคนจะลงมติตามเนื้อหาสาระที่ทางฝ่ายค้านได้พูดไป และหากสิ่งไหนชัดเจนมาก หรือพรรคไหนมีแผลที่ชัดเจน หลักฐานชัด คิดว่าในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็ควรจะตัดสินใจในการปรับ ครม. หรือปรับรัฐมนตรี ที่อาจจะมีข้อครหาเหล่านั้นออก” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว.