นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2567  AAV และ TAA มีรายได้จากการขาย และให้บริการอยู่ที่ 13,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 3,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% กำไรจากการดำเนินงานหลักซึ่งไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% ขนส่งผู้โดยสารรวม 5.5 ล้านคน เติบโต 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 89%

นายสันติสุข กล่าวต่อว่า สำหรับผลประกอบการ AAV มีรายได้จากการขาย และให้บริการอยู่ที่ 49,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับปีก่อน โดยมี EBITDA อยู่ที่ 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% ทั้งนี้กำไรจากการดำเนินงานหลักเป็นบวกครั้งแรกหลังโควิด-19 อยู่ที่ 3,007 ล้านบาท เป็นสัญญาณว่าผลกระทบจากโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยบริษัทกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยจำนวนผู้โดยสารทั้งปีอยู่ที่ 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่อัตราขนส่งผู้โดยสาร 91% สะท้อนความต้องการเดินทางที่ยังสูง โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ ทำให้สัดส่วนผู้โดยสารในประเทศ และระหว่างประเทศทั้งปีอยู่ที่ 63% ต่อ 37% โดยขยายฝูงบินในปีนี้เพิ่ม 4 ลำ รวมเป็น 60 ลำ ณ สิ้นปี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นายสันติสุข กล่าวอีกว่า ปี 2567 เป็นปีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานพลิกฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับก่อนสถานการณ์โควิดอย่างชัดเจน โดยตลอดปี 2567 ขนส่งผู้โดยสารรวม 20.8 ล้านคน มีฝูงบินแอร์บัส 60 ลำ เทียบกับปี 2562 ที่เคยขนส่งผู้โดยสารสูงสุด 22.1 ล้านคน และฝูงบิน 63 ลำตามลำดับ การฟื้นตัวนี้ส่งผลให้ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานหลักเป็นบวกเป็นครั้งแรก และเริ่มกลับมามีสุขภาพทางการเงินในการดูแลพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียได้ดีขึ้น

นายสันติสุข กล่าวด้วยว่า ปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศ ซึ่งเราทำได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 41% ในเดือน ต.ค. และมีส่วนแบ่งการตลาดตลอดปีอยู่ที่ 40% เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางที่มากขึ้น ไทยแอร์เอเชียได้เพิ่มความถี่บิน และเปิดตัวเปิด 2 เส้นทางใหม่ ดอนเมือง-ลำปาง และสุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ ในขณะที่ตลาดระหว่างประเทศ เน้นการปรับแผนให้สอดคล้องกับแต่ละตลาด โดยตลาดจีนในปีที่ผ่านมาแม้ว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง แต่อัตราการฟื้นตัวค่อนข้างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนด้านมาตรการยกเว้นวีซ่าของทั้งรัฐบาลไทย และจีน ทำให้เห็นแนวโน้มคนไทยไปเที่ยวประเทศจีนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับภูมิภาคที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย ที่ขยายตัวได้ดีหลังการปลดล็อกเรื่องโควตาที่นั่งในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเราเป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินเชื่อมไทยกับอินเดียมากที่สุด ส่วนตลาดอาเซียนยังคงมีศักยภาพที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่ไทยแอร์เอเชียครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในเที่ยวบินระหว่างไทย-เวียดนาม ทั้งนี้ตลอดปีที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างจุดแข็งที่โดดเด่น ผ่านคุณภาพบริการมาตรฐานระดับโลก โดยนอกจากกลุ่มแอร์เอเชียจะได้รับจัดอันดับให้เป็นสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลกจากสกายแทรกซ์ 15 สมัยซ้อน ไทยแอร์เอเชียยังเป็นสายการบินที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยติดอันดับโลกด้วยคะแนน 7 เต็ม 7 จาก AirlineRatings.com และยังสามารถรักษาแชมป์สถิติความตรงต่อเวลาสูงสุดในไทย และติด 5 อันดับแรกของสายการบินในเอเชียแปซิฟิกที่ตรงต่อเวลาที่สุดจากรายงานของ Cirium

นายสันติสุข กล่าวด้วยว่า ก้าวต่อไปในปี 2568 แม้จะยังคงมีความท้าทาย แต่บริษัทจะมุ่งใช้ความได้เปรียบด้านการให้บริการ และจำนวนเครื่องบินที่มากที่สุดในกลุ่มสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วมากขึ้น โดยตั้งเป้าเติบโตรายได้จากการขาย และบริการใกล้เคียง 15% จากปีก่อน เพิ่มเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 6 ลำ เป็น 66 ลำในปีนี้ ทั้งนี้ยังคงมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำ บริษัทฯ ตั้งเป้าจะขยายส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศให้มากกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนด้วยการขยายเครือข่ายจากฐานที่มั่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ  ซึ่งต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียได้เปิด 2 เส้นทางใหม่ สุวรรณภูมิ-อุดรธานี และสุวรรณภูมิ-ขอนแก่น รวมเป็น 6 เส้นทางในปัจุบัน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเติมตลอดทั้งปีนี้ รวมถึงการใช้กลยุทธ์สิทธิเสรีภาพที่ 5 โดยตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสาร 23-24 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่สูงสุดของบริษัทต่อไป.