เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรัฐสภา และประธานคณะอนุกรรมการด้านประสานงานบริหารจัดการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีรถทัวร์ ที่เดินทางมาจากจังหวัดบึงกาฬ เกิดอุบัติเหตุที่ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 18 คน และมีผู้บาดเจ็บ 30 คน ว่า ทางคณะกรรมการขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกรณีนี้เป็นการเกิดเหตุขึ้น ถือเป็นการเกิดเหตุอีกครั้งที่เกี่ยวกับกรณีรถบัสทัศนศึกษา ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับรถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนจังหวัดอุทัยธานี ที่เกิดเพลิงไหม้ โดยใช้รถโดยสารประจำทาง หมวด 30

นายนิกร กล่าวว่า จากการติดตามมีความเห็นว่า การเกิดเหตุขึ้นเช่นนี้ เป็นการเกิดเหตุจากการใช้บริการรถรับจ้างไม่ประจำทาง หมวด 30 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และซ้ำซ้อน โดยตนเองขอชี้ขาดเลยว่า การกำกับดูแลรถสาธารณะชนิดทั่วไป ถูกควบคุมดูแลโดยกรมขนส่งทางบก แต่รถรับจ้างไม่ประจำทาง หมวด 30 ไม่ได้มีการตรวจสอบว่า จะออกมาวิ่งเมื่อไหร่ และผู้ขับขี่ก็ไม่มีความชำนาญในการขับรถระยะไกล และไม่ชำนาญเส้นทาง ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ซึ่งหากเป็นรถที่ควบคุมโดยกรมขนส่งทางบก หากมีการเดินทางระยะไกลจะมีการสับเปลี่ยนผู้ขับขี่ และจากการตรวจสอบพบว่า เส้นทางในอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเส้นทางที่มีความลาดชัน คดเคี้ยว และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งหากผู้ขับขี่ไม่คุ้นเคยเส้นทาง ก็จะมีปัญหาในการใช้เบรครถ ส่งผลให้บางครั้งเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต

นายนิกร กล่าวอีกว่า จากลักษณะรถที่เป็นรถบัส 2 ชั้น โดยจากประสบการณ์ที่มีการตรวจสอบมา รถลักษณะดังกล่าว ศูนย์ถ่วงน้ำหนักมักมีปัญหา และรถบัส 2 ชั้น ไม่เหมาะสมที่จะใช้เดินทางในเส้นทางที่มีลักษณะคดเคี้ยว และลาดชัน โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการมีการขอความร่วมมือ แต่ไม่ได้มีการออกเป็นกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับเส้นทางในการเดินทาง โดยไม่แนะนำให้เหมารถรับจ้างรถบัส 2 ชั้น เดินทางไปในเส้นทางอาทิ ตาก-แม่สอด พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ กระบี่-พังงา เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เส้นทางสายเอเชีย และเส้นทางกบินทร์บุรี-ปักธงชัย หรือ 304 ซึ่งเป็นเส้นทางที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง

นายนิกร กล่าวต่อว่า ในวันศุกร์ที่ 28 ก.พ. นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะ ซึ่งจะนำเหตุการณ์ดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ ว่า เกิดจากตัวผู้ขับขี่ สภาพรถ หรือเส้นทางคมนาคมที่ไม่ปลอดภัย ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายนิกร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวทางการเยียวยาชดเชยค่าเสียหาย รถยนต์ในหมวด 30 มีวงประกันภัยอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อครั้งเท่านั้น ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 18 คน หากนำมาเฉลี่ยแล้วสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้เพียงคนละ 500,000 บาท เท่านั้น แต่สำหรับผู้บาดเจ็บอีก 30 คน ยังไม่แน่ใจว่า จะนำเงินส่วนไหนมาจ่ายเยียวยา ซึ่งมองว่า เป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งตนเองได้มีการพูดคุยกับนายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เพื่อพิจารณาถึงแนวทางการเพิ่มวงเงินประกันภัยให้เหมาะสม เพื่อเสนอไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้มีการขยายวงเงิน เนื่องจากมีการพยายามป้องกันเหตุแล้ว แต่ไม่สามารถป้องกันได้