เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปมข่าวลือส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ว่า เมื่อวานนี้ (26 ก.พ. 2568) ช่วงเย็นจนถึงกลางคืน ตนได้มีการติดต่อพูดคุยกับผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายคน ถึงข้อเท็จจริงเรื่องข่าวลือส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน โดยเบื้องต้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ได้การปฏิเสธ ตนก็ยังไม่ได้รับคำยืนยันอะไรที่จะสามารถยืนยันได้ขณะนี้ว่าจะมีการส่งกลับคนอุยกูร์ไปยังที่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ก็มีข้อบ่งชี้หลายอย่างที่ทำให้เกิดความน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ได้ลงพื้นที่ไปติดตามในช่วงกลางคืนที่ผ่านมา รวมถึงภาพคลิปวิดีโอต่างๆ ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยมีรถยนต์ที่มีการปิดสติกเกอร์สีดำ ซึ่งมีพฤติกรรมหลายอย่างที่น่าสงสัย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หน่วยงานหลายแห่งที่ตนได้พยายามติดต่อ ก็ปิดเครื่องไม่สามารถติดต่อได้ ดังนั้นหลายอย่างต้องยอมรับว่ามีข้อบ่งชี้ที่น่ากังวลจริง ๆ เพราะซึ่งหากมีการส่งคนอุยกูร์ไปยังที่ประเทศจีน จริง ตนคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของประเทศไทย แต่จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก หากเราติดตามข่าวต่างประเทศ เราจะเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ดังนั้นก็อาจจะทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยได้ อย่างน้อยที่สุด รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีความสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี และต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีบทบาทในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และการที่เราส่งคนอุยกูร์แบบนี้ ก็อาจทำให้เข้าใจได้ว่าอาจทำให้เกิดผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อคนอุยกูร์เหล่านี้ ดังนั้น จึงทำให้เกิดคำถามกับประเทศไทยเรื่องบทบาทสิทธิมนุษยชนว่าจะเป็นอย่างไร
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าจะมีปัญหาตามมาเนื่องจากเรามีกฎหมายภายในและมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การซ้อมทรมานและการอุ้มหาย หนึ่งในมาตรการสำคัญของเราคือเราจะไม่ส่งคนที่เรารู้ดีว่าส่งไปแล้วหากเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายการส่งแบบนี้จะไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นการละเมิดกฎหมายภายในเองรวมถึงเป็นการละเมิดกฎหมายของประเทศอีกด้วยเช่นเดียวกัน
และสุดท้ายสิ่งที่ตนหนักใจมากที่สุดคือหากจำกันได้ เราเคยส่งคนอุยกูร์ไปก่อนหน้านี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาต่อจากนั้นคือเกิดเหตุระเบิด แต่อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่อยากจะไปทำนายอะไร แต่มองด้วยความเป็นห่วงว่าหากเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในการที่จะส่งคนอุยกูร์กลับไปจีน ก็อาจจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ
ด้านนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์หลังจากที่เมื่อวานนี้ ได้มีการเฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงช่วงค่ำ ว่า หลังจากได้ทราบก็ได้ติดตามเช็กข่าวจากหน่วยงานและผู้ใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงนี้ ตนก็เลยตัดสินใจกับเพื่อน สส.หนึ่งท่าน คือ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. พรรคประชาชน ไปสังเกตการณ์ที่ศูนย์กักตัว ของทางตรวจคนเข้าเมือง พบสิ่งที่นัดผิดสังเกตคือประตูรั้วปิด ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นสถานที่ราชการ ก็เลยปิดตามเวลาราชการ ทั้งยังได้เจอกับญาติผู้ต้องหาซึ่งเป็นชาวอินเดีย ได้รับการแจ้งว่ามีการปิดทำการ 2 วัน และมีป้ายปิดประกาศข้างในโดยขอมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะว่าไม่ใช่วันทำการใด ๆ
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเราเฝ้าติดตามกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ให้ข้อมูลกับเราแต่อย่างใด เนื่องจากเราไม่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าไปข้างใน ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะว่าเราไม่ได้มีการติดต่อเข้าไปก่อน แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือสิ่งบ่งชี้ตั้งแต่เมื่อคืนก่อนช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ถึง 21.00 น. ซึ่งก็มีผู้สื่อข่าวที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตลอดทั้งคืน รวมถึงตนก็ได้รับโทรศัพท์และข้อความหลังจากที่ตนเดินทางกลับในช่วงประมาณ 22.00 น. และช่วงเวลา 01.00-02.00 น. อีกครั้ง ในการอัปเดตสถานการณ์จากคนที่เฝ้าสถานการณ์ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก ว่าเรื่องนี้มีความผิดวิสัยปิดเทปดำอย่างที่นายรังสิมันต์ กล่าวก่อนหน้านี้
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญที่สุด พบขบวนรถหลายคันและมีผู้สื่อข่าวบางคนพยายามที่จะติดตามรถขบวนดังกล่าวขึ้นทางด่วน แต่เมื่อรถขบวนขึ้นทางด่วน ก็พบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการปิดการใช้งานเส้นทางด่วนดังกล่าวทันที ซึ่งผู้สื่อข่าวท่านนั้น ก็มีความพยายามในการติดตาม โดยการพยายามขึ้นทางด่วนอีกที่หนึ่ง อีกประมาณ 2 จุด ซึ่งเท่ากับว่ามีการปิดทางด่วน 3 จุด ในช่วงเมื่อคืนนี้ และตอนเช้าวันนี้ เราพบว่ามีไฟลต์บินปริศนาไปยังเป้าหมายที่ไม่ระบุในตอนแรก ที่จะมีการขึ้นไปยังแถวบริเวณประเทศจีน ซึ่งก็มีกระแสข่าวเยอะ และตนได้รับข้อมูลมาว่า วันนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเข้าไปตรวจเยี่ยมที่ศูนย์กักตัวที่สวนพลู ซึ่งมีการยืนยันข้อมูลทั้งหมด
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า โดยตลอดวันที่ผ่านมา ตนก็พยายามใช้ช่องทางในการสื่อสารติดต่อไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา โดยตรงโดยตลอดและพยายามจะสื่อสารถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และอย่างน้อยที่สุดก็อยากจะติดต่อไปยัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจในทางการเมือง ตนและนายรังสิมันต์ ได้มีการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายและเป็นข้าราชการประจำทุกคนบอกเป็นสิ่งเดียวกันว่า เรื่องนี้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองและฝ่ายรัฐบาล
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเตรียมการจะมุ่งหมายไปสู่สิ่งใดก็แล้วแต่การกระทำในครั้งนี้ เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนายกฯ เพราะฉะนั้นไม่ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรก็ตาม บวกหรือลบ ไม่ว่าจะเอาอะไรไปแลกเปลี่ยน ไม่ว่าผลคำนวณ เหล่านั้นจะเป็นอย่างไรและจะมีการตัดสินใจอย่างไรตนคิดว่าคนที่จะต้องตอบคำถามเรื่องนี้ต่อวิกฤตการณ์นี้ได้ดีที่สุดก็คือนายก ฯ พร้อมขอเรียกร้องให้นายก ฯ สื่อสารประกาศออกมายืนยันข้อเท็จจริงหรือจะปฏิเสธข้อเท็จจริงใดใดทั้งสิ้นโดยเร็วที่สุด ภายในก่อน 12.00 น. อย่างน้อยที่สุดเราก็จะได้รู้ชะตากรรมว่าชาวอุยกูร์ ที่ถูกกักตัวอยู่ในประเทศเรากว่า 10 ปีแล้ว ในวินาทีนี้ความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ระหว่างนี้เราคงต้องใช้กลไกในรัฐสภาอย่างเท่าที่พอจะมีอยู่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ออกมาแล้วคงจะได้มีการพิจารณาต่อว่าวันนี้จะมีการเคลื่อนไหวอะไรบ้าง แต่ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของพรรคประชาชนและพรรคฝ่ายค้าน แต่ข้อกังวลนี้มีการปรึกษาหารือการชี้แจงเรื่องหน่วยงานที่ชี้แจงเข้ามาในกรรมาธิการกฎหมาย เมื่อวานนี้ ตนทราบว่ามีรัฐมนตรีจากประเทศยุโรป พูดคุยกับกรรมาธิการต่างประเทศ เรื่องนี้ตนมองว่าเป็นวาระระหว่างประเทศและทุกคนจับตามอง เพราะฉะนั้นจึงขอให้สื่อมวลชนช่วยกันติดตาม และขอย้ำว่านายกรัฐมนตรีต้องสื่อสารเรื่องนี้
เมื่อถามว่าจะมีการยื่นกระทู้ด่วนหารือในสภาหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะอยู่ระหว่างการหารือ เรื่องกระทู้อาจจะไม่ทัน เพราะว่ามีกระทู้ไปแล้ว และมีข้อบังคับอยู่ แต่ว่าเรื่องญัตติด่วนขนาดนี้กำลังอยู่ในระหว่างการหารือกัน เพราะหากจะยื่นญัติด่วนได้จะต้องเห็นพ้องกันทั้งสองฝั่งก็คือทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อชาวอุยคกูร์ แต่มันคือการเอาคนไทยและเอาความเสี่ยงต่าง ๆ หลายอย่างของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์หรือประเทศ และความปลอดภัย ซึ่งก็เหมือนกับว่าเราเป็นตัวประกันในเรื่องนี้ด้วย ดังนั้นตนยังคิดว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างความกระจ่าง