เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 68 นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา คุณหมออารมณ์ดีเจ้าของเพจ “หมอเจด” ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาด โดยระบุว่า พ่อแม่ต้องระวัง! ไข้อีดำอีแดงกลับมาระบาด จนสั่งหยุดเรียน! พร้อมกับอธิบายว่า

ช่วงนี้มีข่าวไข้อีดำอีแดงระบาดหนักนะครับ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน บางโรงเรียนถึงกับต้องหยุดเรียนกันเลยทีเดียว โรคนี้แพร่กระจายได้ง่าย ถ้าอยากรู้ว่ามันคืออะไร อาการเป็นยังไง และต้องดูแลตัวเองยังไง มาดูกันเลย

1.ไข้อีดำอีแดงคืออะไร?

ไข้อีดำอีแดงเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย Streptococcus pyogenes หรือที่เรียกว่า Group A Streptococcus ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เป็นคออักเสบ แต่ถ้าเชื้อนี้ปล่อยสารพิษออกมาจะทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นทั่วตัว มักจะพบในเด็กช่วง 5-15 ปี โดยเฉพาะในโรงเรียนที่เด็กๆ อยู่รวมกันเยอะๆ นะครับ

2.ไข้อีดำอีแดงติดต่อกันได้ยังไง?

เรื่องที่ต้องห่วงคือโรคนี้แพร่กระจายได้ง่ายมาก โดยติดต่อกันได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็น

  • ละอองน้ำลายจากการไอหรือจาม ใครที่อยู่ใกล้คนป่วยแล้วหายใจเอาเชื้อเข้าไปก็มีโอกาสติดได้
  • สัมผัสน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย เช่น ใช้แก้วน้ำ ช้อน หรือของใช้อื่นๆ ร่วมกัน
  • ของใช้ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ของเล่น ผ้าเช็ดหน้า หรือสิ่งของที่เด็กๆ ใช้ร่วมกันบ่อยๆ
    ถ้าสัมผัสเชื้อแล้วเผลอเอามือไปจับปาก จับจมูก ก็อาจติดเชื้อได้ง่ายๆ

3.อาการของไข้อีดำอีแดงเป็นยังไง?

อันนี้พ่อแม่ต้องคอยสังเกตลูกๆ ที่บ้านนะ อาการของโรคนี้จะเริ่มขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ส่วนใหญ่อาการที่เจอก็จะเป็น
ไข้สูง หนาวสั่น

  • เจ็บคอมาก อาจเห็นหนองหรือจุดเลือดออกที่ต่อมทอนซิล
  • ผื่นแดงสากคล้ายกระดาษทราย เริ่มจากลำตัวแล้วลามไปแขนขา ผื่นนี้อาจทำให้ผิวลอกตอนหาย
  • แก้มแดง แต่วงปากซีด เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้เลย
  • ลิ้นแดงเป็นปุ่มๆ คล้ายสตรอว์เบอร์รีหรือที่เรียกว่า strawberry tongue นอกจากไข้อีดำอีแดงแล้ว ยังเจอได้ในโรคหัด และโรคคาวาซากิ แต่จะต่างกันตรงที่ว่าในไข้อีดำอีแดง จะเริ่มจากฝ้าขาว แล้วเปลี่ยนมาเป็นแดงจัด มีปุ่มชัดเจน
  • อาการอื่นๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ต่อมน้ำเหลืองโต และอ่อนเพลีย
    ถ้าเด็กๆ บ้านไหนมีอาการตามที่ผมพูด ควรพารีบพาไปหาหมอนะครับ

4.วิธีรักษาและป้องกัน

ไข้อีดำอีแดงรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน หรือ อะม็อกซีซิลลิน ถ้ากินยาตรงตามที่หมอสั่ง อาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน สิ่งสำคัญคือต้องกินยาให้ครบ ไม่งั้นเชื้ออาจดื้อยาได้
ซึ่งโรคนี้ก็ป้องกันได้ วิธีป้องกันโรคนี้ก็ทำตามนี้ง่ายๆ เลยนะครับ

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนป่วย
  • ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินข้าว
  • ไม่ใช้ของร่วมกับคนอื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า
  • ใส่หน้ากากอนามัย ช่วยลดการแพร่เชื้อได้

5.ภาวะแทรกซ้อนของไข้อีดำอีแดงที่เราต้องระวัง

โรคนี้อย่าชะล่าใจนะครับ ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมาได้ เช่น

  • ไข้รูมาติก ทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจ ข้อต่อ และอวัยวะอื่นๆ
  • ไตอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อผิดปกติ จนทำให้ไตมีปัญหา
  • การติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆ เช่น หูอักเสบ ปอดอักเสบ หรือภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ถ้าลูกหลานมีอาการหนักขึ้น แม้จะกินยาแล้ว ก็ควรพาไปหาหมอทันที

“ไข้อีดำอีแดง” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยเด็กเรียนและแพร่กระจายได้ง่ายมาก ถ้าลูกมีอาการสงสัย ให้รีบพาไปหาหมอ ปัจจุบันในไทยยังไม่มีคนเสียชีวิตนะ เป็นเพราะการกินยาที่ดี คือปฏิชีวนะตามที่หมอสั่งจนหมดนั่นแหละ ยังไงการป้องกันก็ดีสุดนะครับ

และการป้องกันที่ดีที่สุด คือ รักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน และให้เด็กป่วยหยุดเรียนจนกว่าจะปลอดภัยต่อเพื่อนๆ รอบตัว อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองเองก็ตาม ก็ต้องช่วยกันดูแลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ให้ได้มากที่สุดนะครับ ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะ.