เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประเด็นเพิ่มราคาบัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่ไม่ได้ขึ้นกับประกันสังคม ว่า จากการพิจารณาแล้ว เรื่องนี้ไม่สามารถทำโดยลำพังเพียงกระทรวงสาธารณสุข เพราะการเข้าเมืองก็ต้องมีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงมหาดไทย และยังมีกระทรวงการคลัง ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ว่าเมื่อเข้ามาในไทย จะมีการคิดเงินประกันสุขภาพอย่างไร เช่น 3 เดือนคิดเป็นเท่าไหร่ หรือใน 1 ปี มี 365 วัน ถ้าคิดวันละ 10 บาท ก็จะเป็น 3,650 บาท จากเดิมจะกำหนดตามกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทองที่ได้ต่อประชากรคนไทย 3,800 บาท
“หากคิดค่าประกันสุขภาพต่างด้าวในกลุ่มนี้ 3,650 บาทต่อคน จากที่เดิมจะกำหนด 3,800 บาท แสดงว่า จะหายไปประมาณ 150 บาท ดังนั้น ก็น่าจะต้องขอสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เรื่องวัคซีน เรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อมาเสริมตรงนี้ อย่างลงพื้นที่ไป จ.ตาก ทราบว่า มีโครงการเอ็มฟันด์ เป็นกองทุนสุขภาพต่างประเทศทำประกันให้กับผู้อพยพ ส่วนนี้ก็ต้องไปขอให้มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องนี้ด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า แรงงานที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 4 ล้านกว่าคน อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 2 ล้านกว่าคน ที่เหลือก็เป็นกลุ่มรอขึ้นทะเบียน หรือกลุ่ม ท.99 อีกกว่าล้านคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่หน่วยงานดูเรื่องความมั่นคง แต่เราเป็นกองหลังที่ต้องใช้เงินไปกับค่ารักษาพยาบาล อย่างเฉลี่ยปีล่าสุดงบที่เก็บไม่ได้ส่วนนี้กว่า 2,050 ล้านบาท เราจะต้องหามาตรการว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต่างชาติมาแย่งสิทธิคนไทย แต่ก็ต้องโทษตัวเราเองด้วยว่า จัดเก็บได้ไม่ครบ ก็ต้องทำให้ครบให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พยายามเก็บ เมื่อเราเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น ก็ต้องเหมือนๆ กัน ไม่ให้คนต่างด้าวมาเอาเปรียบได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่า ต้องหารือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราเป็นปลายทาง แต่มีผลกระทบด้านการเงิน จึงต้องทำให้ได้ว่า สิทธิของเราจะมาได้อย่างไร จึงต้องแจ้งต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบ ทั้งนี้ งบฯ รักษาต่างด้าวกระโดดสูงเมื่อช่วงปีโควิด 2564-2565 แต่ก็ลดลงมาแล้ว เฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท.