ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทช่วยในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy” ที่อาศัยเทคโนโลยีและ อินเทอร์เน็ตมาสร้างอาชีพหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแพลตฟอร์มต่างๆขึ้นมากมายจนมีช่วยช่วย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับมหภาค
จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ครอบคลุมหลายบริการ ได้สร้างงาน สร้างรายได้ และโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานอิสระจำนวนมาก

เพื่อให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “นิยามใหม่ของสังคม: พลิกโฉมประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมเวทีเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย ตลอดจนโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
“รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก” จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในวิทยากรในวงเสวนา บอกว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ตลอดจนการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทิศทางและรูปแบบการทำงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอิสระหรือ Gig Worker ที่มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด
โดยเฉพาะคน Gen Y ในช่วงปลาย และ Gen Z เนื่องจากตอบโจทย์ในเรื่องความยืดหยุ่น ความเป็นอิสระ รวมทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้คนอยากแสวงหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาค จึงถือเป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมและกำหนดนโยบายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

“ทิศทางการทำงานในโลกอนาคตเปลี่ยนไปมาก ถ้าไม่เตรียมความพร้อมให้เหมือนกันนานาประเทศที่เตรียมตัวไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะภาคการศึกษา ภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ก็คงจะไม่ทันต่อเทรนด์ของโลก ซึ่งมีทั้งในเรื่องของการอัพสกิล รวมทั้งนโยบายแรงงานที่ต้องออกมาตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป”
“รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก” ได้ยกผลวิจัยของต่างประเทศว่า จากการสำรวจตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นพบว่า มี 170 ล้านตำแหน่งทั่วโลก แต่จะมีตำแหน่งงานที่หายไป 92 ล้านตำแหน่ง ซึ่งพบว่ามีจำนวนตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง ดังนั้นต้องตั้งโจทย์ถามภาครัฐว่า ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมไว้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะตำแหน่งงานใหม่ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากนี้เชื่อว่าเป็นตำแหน่งงานที่อยู่บนแพลตฟอร์มจำนวนมาก

“รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก” บอกว่า นิด้าได้ศึกษาบทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (Gig Economy) โดยพิจารณา 4 องค์ประกอบหลัก หรือ 4P ได้แก่ แพลตฟอร์ม (Platform) ผู้ใช้บริการ (People) พันธมิตร (Partner) และหน่วยงานภาครัฐ (Public Sector) และได้พัฒนาออกมาเป็นต้นแบบของนโยบาย โดยมีให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ให้มุ่งส่งเสริมการแข่งขัน หรือการตลาดแบบเสรีควบคู่กับการสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานอิสระสามารถเข้าถึงหลักประกันพื้นฐานทางสังคมของภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมเพื่อสร้างสมดุล และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลางถึงยาวอย่างยั่งยืน
ขณะที่ ทาง “ดร.นณริฎ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ บอกว่า ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอได้ศึกษาบทบาทและผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจของแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยยกกรณีศึกษาของแอปพลิเคชัน Grab ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเดินทาง สั่งอาหาร และขนส่ง ซึ่งมีบทบาทในการสร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจไทย รวมถึงการสร้างรายได้และโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานอิสระ
โดยผลการศึกษามีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ คือ ในปี 66 กิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวงจรธุรกิจของ Grab ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) ซึ่งมีมูลค่า 1.79 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของ GDP ไทย และช่วยสร้างงานกว่า 280,000 ตำแหน่ง และรายได้ครัวเรือนราว 2.4 หมื่นล้านบาท

“ซึ่งจากตัวเลขจากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาค นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยานยนต์ พลังงาน การสื่อสาร การเงิน อาหาร และค้าปลีก โดยสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ในวงกว้าง” ดร.นณริฎ กล่าวว่า
อย่างไรก็ตามในอีกมุมมอง แพลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ แม้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่ในแง่การกำกับดูแล ทั้งเรื่องการบริการ ผลกระทบในด้านต่างๆ ก็ยังมีความจำเป็น
“ศุภโชค จันทรประทิน” หนึ่งในวิทยากร จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ให้ความเห็นในมุมของหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มว่า การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดีต้องรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการ และการส่งเสริมนวัตกรรมควบคู่กันไป

หน่วยงานภาครัฐจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม และเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการขยายตลาดไปสู่ระดับสากล ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของ ETDA ไม่ใช่แค่การควบคุม แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศที่ทุกฝ่ายสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
สุดท้ายแล้วโลกได้พัฒนาอย่างไม่หยุด เทคโนโลยีก้าวเร็วเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเกิด “แพลตฟอร์มดิจิทัล” อีกมากมายที่จะก่อให้เกิดการใช้งานและการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแล และการส่งเสริม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายได้มากที่สุด!?!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์