จากกรณีโลกออนไลน์แชร์ข้อมูลอ้างว่า โยชิโนริ โอสึมิ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ในปี 2559 แนะนำให้อดอาหารรักษามะเร็ง นั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 68 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเตือนพร้อมให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” โดยระบุว่า

แม้ว่างานวิจัยของ โอสึมิ นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกระบวนการย่อยสลายของเซลล์ ที่สามารถนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม AFP ไม่พบหลักฐานว่าคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดมาจากงานวิจัยของ โอสึมิ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยืนยันกับ AFP ว่า การงดอาหารไม่ช่วยรักษาโรคมะเร็ง พร้อมเตือนว่าการขาดสารอาหารเป็นภาวะที่อันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 โดยโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพของ โอสึมิ พร้อมคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งงดอาหาร “เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง” ก่อนถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล มาเลเซีย และ ไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายกัน ที่ถูกแชร์นับหมื่นครั้งในโพสต์เฟซบุ๊กภาษาฝรั่งเศส

เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ โอสึมิ ทำงานอยู่ บอกกับ AFP เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ว่า เขาไม่ได้พูดคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ขณะที่ AFP ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ได้รับคำตอบตรงกันว่า ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งงดอาหาร

ลูซี เอสแปร์ (Lucile Espert) นักวิจัยด้าน Autophagy และการติดเชื้อ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 ว่า การงดอาหารเป็นครั้งคราวไม่ถือเป็นการบั่นทอนร่างกาย และอาจต้องขอบคุณกระบวนการ Autophagy ด้วยที่มันไม่ถือเป็นเรื่องไม่ดี แต่การกล่าวว่ามันสามารถใช้เพื่อรักษาโรคนั้น เป็นเรื่องอันตราย

โลรองต์ เชอวาลลิเยร์ (Laurent Chevallier) นักโภชนาการที่ปรึกษา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมงต์เปลลิเย่ร์ อธิบายกับ AFP ว่า ในส่วนของเนื้องอกวิทยา ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะขาดสารอาหารเร็วกว่าคนปกติ เมื่อคุณได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มันจะทำให้สภาพแย่ลง และถือเป็นภาวะที่อันตรายมาก

ปิแอร์ ซอนโว (Pierre Sonveaux) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคาธอลิก Louvain (UC Louvain) และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยมะเร็งเชิงทดลอง บอกกับ AFP ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่ควรเปลี่ยนโภชนาการเอง ถ้าคุณจะเปลี่ยนแปลงโภชนาการ ควรจะต้องผ่านการปรึกษากับแพทย์มาก่อน.