เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ดังนี้ 1.ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 เรื่องขอทบทวนมติ ครม. วันที่ 15 ธ.ค. 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนและให้ใช้ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน โครงการนมโรงเรียนฯ 2.เห็นชอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียนฯ 4 ข้อ ดังนี้ 1.นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ 2.เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตขายน้ำนมโคที่มีคุณภาพได้ มีความยั่งยืนในอาชีพ 3.เพื่อสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจการผลิตนมในลำดับแรก ซึ่งจะเกิดความมั่นคงทางอาหารของประเทศ 4.ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

โดยสาระสำคัญนั้นกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า 1.สถานการณ์การผลิตและการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจาก 15,724 ราย ในปี 2566 เหลือ 14,997 ราย ในปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมโคทั้งประเทศลดลงจาก 1.026 ล้านตันในปี 2566 เป็น 1.011 ล้านตันในปี 2567 รวมทั้งจำนวนแม่โครีดนมยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 244,292 ตัว ในปี 2566 เป็น 233,501 ตัวในปี 2567 ประกอบกับภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวชีแลนด์ (TNZCEP) ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ประเทศไทย ต้องยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีม ให้เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมนมของไทย เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มจำนวนเด็กนักเรียนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนฯ ปี 2563 จำนวน 7,036,845 คน แต่ในปี 2567 เหลือ 6,525,110 คน ส่งผลโดยตรงต่อจำนวนที่จะนำมาจัดสรรสิทธิ โดยเฉพาะภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา (ตั้งแต่เริ่มโครงการนมโรงเรียนฯ ในปี 2562 มีแนวโน้มการได้รับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนลดลงตามลำดับ) 

2.เนื่องจากแนวโน้มภาคสหกรณ์โคนมรัฐวิสาหกิจและสถานศึกษาได้รับการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนลดลง รวมถึงการยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนยและนมและครีมให้เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมโคนมมีข้อจำกัดด้านการแข่งขันทางการตลาด ประกอบกับข้อมูลสถิติการเลี้ยงโคนมและเขตการบริหารราชการของกรมปศุสัตว์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการกระจายตัวของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไม่สัมพันธ์กับหลักโลจิสติกส์ โดยการทบทวนปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนในบางกลุ่มพื้นที่ที่มีปัญหาการขนส่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินโครงการนมโรงเรียนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนด้วย

3.การขอทบทวนมติ ครม. วันที่ 26 มี.ค. 2562 ในประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียนฯ จากเดิมที่แบ่งกลุ่มพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ เป็น 7 เขตพื้นที่ จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งนมโรงเรียนได้อย่างมีประสเทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อมีการแบ่งเขตใหม่ จะสามารถช่วยลดระยะทางในการขนส่งนมโรงเรียนได้ จากเดิมที่ต้องขนส่งระยะทางไกลที่สุด 1,191 กิโลเมตร เหลือแค่ 505 กิโลเมตร แต่การแบ่งเขตกลุ่มพื้นที่ใหม่ อาจจะไม่ช่วยทำให้จำนวนนักเรียนและจำนวนศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีการกระจายตัวอย่างสมดุลในแต่ละกลุ่มพื้นที่มากนัก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ สามารถทดแทนได้ จากการรับนมของพื้นที่นอกเขต โดยปัจจุบันในแต่ละกลุ่มพื้นที่มีปริมาณนมยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนฯ ต่อวันเพียงพอต่อความต้องการในกลุ่มพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว.