เมื่อเวลา 14.28 น. วันที่ 3 มี.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความผ่าน X และโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมภาพขณะนั่งพูดคุยหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง โดยมีข้อความระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนครี (ครม.) สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ให้นายพิชัย ทำแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้จีดีพีโต 3-3.5% โดยในวันนี้หลังประชุม ครม. นายพิชัยได้รายงานความคืบหน้าจากการหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยแบ่งแผนงานดังนี้ แผนการดำเนินงานระยะสั้น-กลาง โดย 1.เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ กองทุนต่างๆ ซึ่งมีเงินค้างอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท

นายกฯ ระบุต่อว่า 2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ และผันเม็ดเงินไปสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ 3.เร่งการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งในปี 2567 มีการยื่นขอสนับสนุนราว 1.14 ล้านล้านบาท โดยเราจะช่วยดูแลอำนวยความสะดวกเรื่องการรายงานผลการศึกษาจัดอันดับความยากง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตต่างๆ

นายกฯ ระบุอีกว่า 4.เร่งปิดดีลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบน้ำ เพื่อสอดรับกับความต้องการทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ รถไฟเชื่อมต่อกับจีน ขยายสนามบินและท่าเรือ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง ตามนโยบาย Ignite Thailand หรือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้วิสัยทัศน์ 5.กระตุ้นการส่งออก เช่น การเปิดตลาดใหม่ เร่งเจรจากับประเทศคู่ค้า ลดคอขวดด้านพิธีการส่งออก โดยดิฉันขอให้ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรควบคู่ไปด้วย 6.ด้านการท่องเที่ยว เน้นการจัดงาน เทศกาล เพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวและทำให้ระยะเวลาในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว อยู่ในประเทศนานขึ้น  

นายกฯ ระบุด้วยว่า สำหรับแผนระยะกลาง-ยาว เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 1.เริ่มปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบ Sandbox โดยยึดความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนไป และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมเดิม 2.ปรับโครงสร้างด้านราคาพลังงาน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เช่น นโยบายการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement) หรือ Direct PPA และโครงการของภาครัฐ ที่ให้บริการจัดหาใบรับรองการซื้อพลังงานไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) เพื่อตอบโจทย์มาตรฐานการค้าการลงทุนปัจจุบัน และ 3.เร่งปฏิรูปด้านเกษตรแบบ Sandbox โดยใช้ตลาดนำ เริ่มจากสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย เน้นเรื่องความสมดุลอุปสงค์-อุปทาน พัฒนาปัจจัยทุน ได้แก่ ดิน เมล็ดพันธุ์ น้ำ และเพิ่มผลิตภาพ ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

“โอกาสต่อไป คณะทำงานจะหารือเพิ่มกับภาคเอกชนผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และจัดทำเป็นแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 2 สัปดาห์” นายกฯ กล่าว.