เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “รัฐบาลเร่งปลดล็อกขายสุรา เพื่อผลประโยชน์ธุรกิจอยู่เหนือธรรมาภิบาล หรือไม่ ? แต่คนไทยหวั่นใจตายเจ็บเพิ่ม” พร้อมเปิดคลิปข่าว “ย้อนคดีน้องแก้ม ฆ่าข่มขืนเด็กหญิง 13 ทิ้งร่างจากรถไฟ” ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ
รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การแทรกแซงนโยบายของภาครัฐของธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นรับรู้กันโดยทั่วไปในวงการวิชาการด้านสุขภาพ อ้างอิงจากการทบทวนรายงาน 20 ฉบับทั่วโลก พบว่า ธุรกิจมุ่งรักษาผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าสนับสนุนมาตรการลดผลกระทบของเครื่องดื่ม ส่วนลักษณะการเคลื่อนไหวในไทย จะแตกต่างกันตาม 3 กลุ่มหลักในตลาด คือ 1.ทุนใหญ่ในประเทศ มักเคลื่อนไหวทางสาธารณะน้อยเพราะชินกับการทำธุรกิจภายใต้กฎหมายเดิมและการเมืองไทย และข้อกฎหมายบางประการก็อาจเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนี้ 2. ธุรกิจรายเล็ก จะเคลื่อนไหวทางสาธารณะมากกว่า มีความผูกพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องการแก้ไขกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อรายใหญ่ และ 3.ทุนใหญ่ข้ามชาติ ใช้วิธีการล็อบบี้ และมักทำงานร่วมกับธุรกิจในประเทศ ผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตลาด เช่น สนับสนุนมูลนิธิเพื่อขับเคลื่อนแคมเปญตามแนวทางของธุรกิจ การเรียกร้องผ่านองค์กรการค้า การสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศแม่ของทุนข้ามชาติ ร่วมกำหนดนโยบายผ่านการร่วมมือกับ think tanks ภายในประเทศ
“ผมอยากให้มองว่าปัจจุบันตัวเองสามารถเห็นร้านเหล้า หรือซื้อได้ง่ายหรือไม่ ก็จะตอบได้ว่ามาตรการที่มีอยู่ในตอนนี้แย่จนต้องแก้ไขยกเลิก หรือเป็นการควบคุมในระดับที่เหมาะสมพอประมาณอยู่แล้ว” รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายคมสัน โพธิ์คง นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า การศึกษาทั้งหลายยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่ม ทำให้เกิดโรคร้ายแรง และยังขาดสติก่อเหตุกระทบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เช่น อุบัติเหตุ อาชญากรรม ดังนั้นกฎหมายนี้จึงออกมาเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะถือว่าไม่ใช่สินค้าที่ปลอดภัยนัก แต่ในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ กลุ่มผู้ขายมีการสร้างสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานของรัฐ และยังพบความพยายามหาช่องว่างเลี่ยงกฎหมาย บางครั้งก็ยอมทำผิดแบบดื้อๆ เพราะโทษไม่หนัก ขณะที่คนดื่มก็มองการฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเรื่องปกติ อ้างดื่มเพื่อเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความวุ่นวายในการบังคับใช้กฎหมายพอสมควร
นายคมสัน กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้กฎหมายครั้งนี้ที่มีความพยายามทำให้การควบคุมอ่อนลง ก็ต้องบอกว่าเป็นปัญหาของนักการเมือง สส.บางส่วนมีการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ร้านอาหาร ร้านเหล้า ซึ่งธุรกิจแอลกอฮอล์ก็พยายามเข้าไปอยู่ข้างหลังบรรดา สส.เหล่านี้เพื่อแก้กฎหมายให้มีความสะดวกในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคม จึงพยายามที่จะลดโทนในการบังคับใช้กฎหมายไปเรื่อยๆ บางเรื่องพยายามจะตัดออกให้ได้ ดังนั้นในแง่หลักการกฎหมายที่จะทำขึ้นใหม่ จะเป็นการเอื้อผู้ประกอบการมากขึ้น ข้ออ้างว่าจะทำให้เกิดรายได้มหาศาลนั้นแต่กลับไม่เคยเอามาเปรียบเทียบกับเงินที่รัฐจะต้องจ่ายในการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย ถึงจะมีตัวเลขผลกระทบออกมาชัดเจนแต่รัฐก็ไม่มองแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนภาพการมอบหมายไปศึกษาผลดีผลเสียก่อนนั้น เป็นเพียงพิธีกรรม พูดเพื่อให้เรื่องเงียบ แต่ในใจลึกๆ ก็หาช่องที่จะเอาเรื่องนั้นให้ได้ นอกจากจะมีผลการศึกษาออกมาแล้วมันเดินไปไม่ได้แล้วจริงๆ พวกนี้ถึงจะยอมหยุด
“สังเกตไหมว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะบรรดากลุ่มธุรกิจสามารถเข้าไปแทรกแซงนักการเมืองได้ สามารถใช้ประโยชน์จากพวกนี้ได้ การอ้างประชาธิปไตยเป็นของประชาชน อ้างว่าประชาชนต้องการแบบนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ประชาชนต้องการจริงไหม หรือแค่ประชาชนคนไหนที่ต้องการเรื่องแบบนี้ แต่คนที่ได้รับผลกระทบเขาไม่เอา พวกนี้ไม่เคยเข้าถึงจิตใจคนที่ได้รับผลกระทบเลย เพราะฉะนั้นขอให้รัฐบาลหยุดการส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์ กลับสู่จุดเดิมคือการควบคุมที่เหมาะสม กำกับให้มีการบริโภคแบบไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมโดยรวม ไม่เป็นภาระกับรัฐ” นายคมสัน กล่าว

ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตนทราบมาว่าในวันที่ 4 มี.ค. 2568 จะมีการประชุมกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อเดินหน้าให้มีการแก้ไขอนุบัญญัติ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการให้ศึกษาการปลดล็อกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ยกเลิกการห้ามขายวันพระใหญ่ ยกเลิกเวลาห้ามขายช่วง 14.00-17.00 น. และยกเลิกการห้ามขายออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ธุรกิจแอลกอฮอล์เสนอต่อรัฐบาลมาตลอด เครือข่ายเห็นถึงความรีบเร่ง ขาดความรอบคอบ เอาใจกลุ่มธุรกิจมากเกินไป เราได้แต่หวังว่าการประชุมกรรมการนโยบายฯ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นธรรม ไม่เอาใจธุรกิจจนหลงลืมความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ความตายของประชาชน และต้องไม่ลืมว่าข้อสั่งการให้มีการศึกษานะไม่ใช่ให้แก้ทุกอย่างเพื่อเอาใจนายทุน นักธุรกิจ.