เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ยื่นหนังสือถึง นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ปรับปรุงการทำงาน โดยเฉพาะการอำนวยการยุติธรรมในชั้นของพนักงานสอบสวน 

โดยนายแทนคุณ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนมากโดยมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เดิมขั้นต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนในแต่ละท้องที่เกิดเหตุ มีภาระงานที่มากและไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรเพราะตำรวจมีน้อยและงานเยอะ งบประมาณน้อย ประกอบกับระบบการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย เป็นระบบกล่าวหา ทำให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายเดียวเป็นหลัก แต่ถ้าหากมีมูลก็จะทำสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการโดยไม่ได้ให้โอกาสอีกฝ่ายหนึ่งในการชี้แจง

นายแทนคุณ กล่าวอีกว่า ตรวจพบว่าในหลายครั้งก็เป็นภาระและเป็นอุปสรรคในการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา เช่น ต้องจัดหาทนายความ ต้องขึ้นศาลจนทำให้เสียสุขภาพกายและจิต รวมถึงเสียกำลังทรัพย์และเวลา  และมีภาระในการต่อสู้คดีตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งหรือไม่ อีกทั้งในหลายครั้ง มีผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดี มักจะถูกปฏิเสธ เช่น คดีฉ้อโกง คดีถูกหลอกลวง รวมถึงผู้รับเรื่องแล้วกว่าจะให้มีการดำเนินการมาสอบปากคำใช้ระยะเวลานาน ตนทราบอีกว่าภายหลังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่ทนกับการกดดันในการทำงานไม่ไหว จนทำให้ลาออกไปหรือบางบุคลากรก็ทิ้งหน้าที่ไป หรือมากกว่านั้นมีการฆ่าตัวตาย 

นายแทนคุณ กล่าวต่อว่า ตนจึงอยากเรียนให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ และหาทางช่วยเหลือตำรวจไม่ให้ต้องไปอยู่ในทางที่มิชอบ เช่น ไปรับค่าส่วยจากบรรดาธุรกิจสีเทา จนกลายเป็นตำรวจมาเฟีย และขอให้มีการพัฒนาและปรับปรุงในส่วนนี้โดยเฉพาะในชั้นของพนักงานสอบสวนหญิงที่พบว่า ปัจจุบันมีประเด็นในเรื่องของคดีละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชนมากขึ้นเรื่อย ๆ และตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก จำเป็นจะต้องมีสหวิชาชีพหรืออย่างน้อยที่สุดมีพนักงานสอบสวนหญิงที่ความเข้าใจว่าจะไม่มีการข่มขืนซ้ำผ่านสื่อ หรือผู้ที่ให้การช่วยเหลือ นำผู้เสียหายหรือนำเหยื่อไปแถลงข่าว และไปถูกซักถามได้ เช่นนี้ตนถือว่าเป็นการกระทำซ้ำหรือเรียกว่าข่มขืนซ้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งเพราะการกระทำเหล่านี้ทำให้ผู้ถูกละเมิดเจ็บปวดจนคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ 

นายแทนคุณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่สตช.จะหากระบวนการในการกระจายโอกาสและกระจายอำนาจให้กับประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรมผ่านเทคโนโลยีใหม่ และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมต้นทาง ซึ่งถือว่าเป็นความสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะหากมีกระบวนการยุติธรรมในกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ระบบภายในประเทศไทยก็จะศักดิ์สิทธิ์หมด

ด้านนายเจษ กล่าวภายหลังการรับยื่นหนังสือว่า ตนขอขอบคุณนายแทนคุณที่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาที่จะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หลังจากนี้ตนจะตรวจสอบหนังสือตามกระบวนการราชการและนำกลับเรียนให้ประธานสภาได้ทราบเป็นการด่วน