ของใช้รอบตัวเรามีผลิตภัณฑ์มากมายที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหากเผลอสูดดม สัมผัสผิวหนัง หรือกินสารเหล่านั้นเข้าไปในร่างกาย จะกลายเป็นสารพิษอันตรายถึงแก่ชีวิต “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวิธีล้างสารพิษและวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
สารพิษคืออะไรก็ได้ที่มีโทษต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกรด ด่าง สารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือยาธรรมดา ก็สามารถเกิดโทษต่อร่างกายได้หากใช้เกินขนาด
การประเมินภาวะการได้รับสารพิษ
แพทย์จะประเมินระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต รวมถึงอาการต่างๆ เหล่านี้
1.คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง น้ำลายฟูมปาก มีรอยไหม้รอบบริเวณริมฝีปาก
2.เพ้อ ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต ม่านตาผิดปกติ
3.หายใจลำบาก มีเสมหะมาก ปลายมือปลายเท้าเขียว ปากเขียว
4.ตัวเย็น เหงื่อออกมาก มีผื่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง

4 ความเชื่อวิธีล้างสารพิษ เมื่อโดนร่างกาย
เมื่อร่างกายได้รับสารพิษ เราต้องรีบล้างพิษให้เร็วที่สุด ทั้งนี้มีการส่งต่อหลากหลายความเชื่อเกี่ยวกับวิธีล้างสารพิษด้วยรูปแบบต่างๆ วิธีไหนได้ผลและถูกต้องตามหลักการบ้าง
ความเชื่อที่ 1 ล้วงคอทำให้อาเจียน
ไม่จริง : การอาเจียนทำให้สารพิษที่อยู่ในทางเดินอาหาร เกิดการสำลักเข้าไปในปอด เกิดปอดอักเสบหรือปอดติดเชื้อได้
ความเชื่อที่ 2 ดื่มนม
ไม่จริง : หลายคนเข้าใจว่านมจะไปช่วยเคลือบกระเพาะหรือลดความเป็นพิษได้ แต่ที่จริงแล้ว นมไม่ได้ช่วยล้างพิษ และการกินไข่ขาวหรือดื่มน้ำมากๆไม่ได้ช่วยเช่นกัน
ความเชื่อที่ 3 ล้างน้ำเย็น
จริง : น้ำที่ใช้จะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ แค่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านอวัยวะนั้นๆ ประมาณ 10-15 นาที ไม่ต้องถู ไม่ต้องใช้สบู่ จากนั้นให้มาโรงพยาบาล พร้อมนำขวดผลิตภัณฑ์สารเคมีหรือจำชื่อผลิตภัณฑ์นั้นมาด้วย เพื่อประโยชน์ในการรักษา

ความเชื่อที่ 4 ลืมตาในน้ำเกลือ
จริง : การล้างตาด้วยน้ำจะใช้น้ำก๊อกหรือน้ำเกลือก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือรีบล้างน้ำให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยให้ดวงตาสัมผัสสารเคมีนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้
ทำอย่างไรเมื่อร่างกายได้รับสารพิษ
สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อผู้ป่วยได้รับสารพิษ คือ ให้รีบทำการล้างพิษ เช่น ถอดเสื้อผ้า อาบน้ำ ล้างตัว เช็ดตัวให้แห้ง
@ กรณีดื่มสารพิษ ผู้ป่วยต้องงดน้ำ งดอาหาร ห้ามล้วงคอให้อาเจียน
@ กรณีสัมผัสสารพิษ ให้รีบล้างสารพิษด้วยน้ำ 10-15 นาที แล้วรีบมาโรงพยาบาล
@ กรณีสารพิษเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด 10-15 นาที แล้วรีบมาโรงพยาบาล
ข้อแนะนำเมื่อใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน
1.เก็บผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีให้อยู่ในที่เหมาะสม
2.หากถ่ายเทสารเคมีในบรรจุภัณฑ์อื่น เช่น ขวดน้ำพลาสติก ควรเขียนฉลากให้ชัดเจนว่าเป็นสารเคมีอันตราย
3.เก็บสารเคมีให้ห่างไกลจากมือเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากอาจเผลอกินสารเคมีได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
4.ใช้สารเคมีให้ถูกต้องและเหมาะสมตามฉลากบนบรรจุภัณฑ์.