เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “รัฐบาลเร่งปลดล็อคขายสุรา เพื่อผลประโยชน์ธุรกิจอยู่เหนือธรรมาภิบาล หรือไม่? แต่คนไทยหวั่นใจตายเจ็บเพิ่ม” ว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กังลำจะประชุมกันนั้น ควรพิจารณาความเสี่ยงในข้อเสนอต่างๆ ในการแก้ไขกฎระเบียบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดังนี้ 1.การยกเลิกระเบียบเพื่อให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อแบบธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 2 หมื่นร้าน ผับ บาร์ ที่คล้ายสถานบริการ อีกกว่า 2 แสนร้าน จากจำนวนที่ได้ใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 570,000 ใบ ประกอบกับแพลตฟอร์มซื้อของอีกมาก หากอนุญาตในประเด็นนี้ จะทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ไร้การตรวจสอบ จึงไม่ควรอนุมัติ ควรชะลอการตัดสินใจและให้มีคณะศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด
2.การให้โรงแรมที่จดทะเบียน ซึ่งมีประมาณ 15,000 แห่ง ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง จะทำให้มีการดื่มเพิ่มขึ้น เสี่ยงบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนนจากการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% เป็นอย่างน้อยในหลายจังหวัด เหมือนที่เกิดขึ้นจากการขยายเวลาให้สถานบริการใน จ.ชลบุรีและภูเก็ต ประมาณ 1,000 แห่ง เปิดได้ถึงตีสี่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุช่วง 02.00-07.00 น. เพิ่มขึ้น มีผู้บาดเจ็บเพิ่ม 900 ราย คิดเป็น 14% เสียชีวิตเพิ่ม 37 ราย คิดเป็น 25% ดังนั้น คณะกรรมการฯ ไม่ควรอนุมัติหรือให้ชะลอการตัดสินใจ และให้มีคณะศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด หากต้องการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติให้รับประทานอาหารกลางวันและมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบ อาจเลือกขยายเวลา 14.00-17.00 น. ในโรงแรมที่ผ่านการคัดกรองว่าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและร่วมรับผิดชอบหากเกิดการเมาแล้วขับ ทั้งนี้ให้มีการหารือกับชุมชนของจังหวัด ซึ่งสามารถตั้งคณะพิจารณาให้รอบคอบเป็นรายพื้นที่ตามความพร้อม แทนการออกประกาศทั่วประเทศ

3.การขยายเวลาให้สถานบริการทั้งในและนอกโซนนิ่ง ซึ่งมีเกือบ 30,000 แห่ง ขายได้ถึงตีสี่ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนเพิ่มขึ้นแน่นอนในช่วงเที่ยงคืนถึงเช้าดังปรากฏที่ จ.ชลบุรี และภูเก็ต เพราะมาตรการการป้องกัน เช่น ตั้งด่านตรวจ การไม่ขายให้คนเมา ทำได้จริงแค่ 30-40% ประกอบกับการขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนงบประมาณ เครื่องมือตรวจวัดแอลกอฮอล์ของฝ่ายรัฐ ฯลฯ เรื่องนี้จึงไม่ควรดำเนินการ
4.การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 5วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา จากการวิเคราะห์เบื้องต้นจากข้อมูลปี 2565-2567 พบค่าเฉลี่ยจำนวนผู้บาดเจ็บต่อวันในวันพระใหญ่ 1,967ราย ลดลง 5% เมื่อเทียบกับวันหยุดนักขัตฤกษ์อื่นๆ ไม่รวมปีใหม่ สงกรานต์ที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ส่วนค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตต่อวัน 36 ราย ไม่มีความแตกต่าง จึงสมควรศึกษา ตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ที่สำคัญหากจะยกเลิกการห้ามขายวันพระใหญ่ ก็ควรรับฟังความเห็นของประชาชนก่อน

“ตามมติ ครม. ได้กำหนดให้ศึกษาความเหมาะสม การเร่งรีบออกมาตรการต่างๆ ให้ทันสงกรานต์โดยไม่ศึกษาอย่างดี ย่อมเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าเข้าข่ายการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทและอาจส่งผลให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมาตรการของรัฐถึงประมาณ 600-800 คน คณะกรรมการฯ จึงมีความชอบธรรมและเหตุผลจำเป็นที่ต้องตั้งคณะศึกษาทางวิชาการอย่างรอบคอบรอบด้านเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของประชาชนที่เป็นหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” นพ.คำนวณ กล่าว
ด้าน นายเจษฎา แย้มสบาย เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับได้ขับเคลื่อนการทำงานผ่านมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงยุคของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สิ่งที่นายกฯ แต่ละท่านไม่ทำและไม่มีนโยบายที่ทำ คือผลักดันนโยบายที่เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยทางถนนของประชาชน โดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ จนมาถึงยุคนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ กลับออกนโยบายอนุญาตให้พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 ทำให้มีอุบัติเหตุขึ้นกว่า 30% ต่อมา น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ ต่อ ก็ทำสวนทางกับสิ่งที่บิดาตัวเองทำไว้ โดยพยายามผลักดันให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันพระใหญ่ 5 วัน ให้ซื้อทางออนไลน์ได้ รวมถึงยกเลิกการห้ามขายในเวลา 14.00-17.00 น.

ดังนั้น เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับจึงออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดังกล่าว เพราะจะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าผลดีทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลมุ่งหวัง ขอวิงวอนไปยัง น.ส.แพทองธาร ต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศเป็นสำคัญ นโยบายใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ รัฐบาลต้องพึงงดเว้น และควรทบทวนการขยายเวลาสถานบริการในพื้นที่นำร่องให้กลับมาเป็นปกติจะเป็นประโยชน์กว่ามาก และยังมีหลายอย่างที่ควรทำเช่นแก้กฎหมายเพิ่มโทษเมาแล้วขับชนคนตายต้องติดคุกจริงไม่รอลงอาญา หรือแก้ไข พ.ร.บ.สถานบริการให้ทันสมัย นำสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการเข้าระบบควบคุม.