กลุ่มอาการที่เรียกว่า Olfactory reference syndrome (ORS) เป็นกลุ่มอาการป่วยทางจิตเวชที่มีคนรู้จักน้อยมาก ผู้ป่วยจะหมกมุ่นอยู่กับความเชื่อว่าตนเองมีกลิ่นตัวแรง ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ทำให้พวกเขารู้สึกวิตกกังวล อับอาย และทุกข์ใจอย่างมาก บางคนมีอาการถอนตัวจากสังคม ไม่ยอมพบปะผู้คน
ผู้ป่วย ORS มักมีลักษณะนิสัยในการรักษาสุขอนามัยมากเกินไป เพราะต้องการขจัดกลิ่นตัวในจินตนาการ และหากยังมีความเชื่อกลิ่นตัวไม่ได้หายไปไหน ก็จะเริ่มมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยงสังคม
โชคดีที่ผลการวิจัยล่าสุดทำให้มีความหวังในการรักษา ผลวิจัยนี้เขียนโดยมอร์แกนน์ มาสซี นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เพิ่งเผยแพร่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โดยอธิบายถึงกรณีของผู้ที่มีภาวะนี้ไว้ 2 กรณี
กรณีแรกเป็นของผู้ป่วยชายวัย 63 ปีซึ่งป่วยเป็นโรค ORS มาตั้งแต่อายุ 20 ปี เขาอ้างว่า มีกลิ่นที่ชวนอาเจียนอยู่ในปากและรู้สึกว่าปากของเขาผิดปกติ เแม้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมและมีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับคนอื่นได้ แต่ก็มักจะหลีกเลี่ยงระบบขนส่งสาธารณะและงานกิจกรรมต่างๆ
ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายวัย 53 ปี รายนี้มีอาการรุนแรงกว่ามาก ส่งผลให้เขาแยกตัวจากสังคมอย่างสิ้นเชิงและไม่สามารถทำงานนอกบ้านได้ นอกจากนี้ เขายังมีอาการประสาทหลอนและความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยรายนี้เชื่อว่ามีกลิ่นอุจจาระออกมาจากปากและทวารหนักของเขา
แมสซีตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของโรค ORS ก็คือ มันเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากเพราะผู้ป่วยเชื่อว่าพวกเขามีกลิ่นตัวแรงจริงๆ
“ผู้ป่วย ORS มักจะไปหาหมอหลายคนก่อนที่จะถูกส่งตัวไปยังแผนกจิตเวช” แมสซีกล่าว “พวกเขาจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายคน ไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์หรือแพทย์ผิวหนัง เพื่อพยายามขจัดกลิ่นที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นกลิ่นที่ร่างกายตัวเองสร้างขึ้นมา”
ผู้ป่วยทั้งสองรายในการศึกษาวิจัยของแมสซีใช้เวลานานหลายปีในการรักษา พวกเขาไปพบแพทย์หลายคนและลองใช้การบำบัดด้วยยา ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า มีผู้ป่วยจำนวนเท่าใดที่มีอาการ ORS ส่วนการรักษาโรคนี้มักจะต้องใช้ทั้งการทำจิตบำบัดและใช้ตัวยาร่วมกัน
การบำบัดจิตเพื่อปรับพฤติกรรมและความคิด (Cognitive-behavioral therapy หรือ CBT) ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผู้ป่วยปรับกรอบความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับกลิ่นตัว นอกจากนี้ ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิดก็ใช้ได้ผลในการช่วยลดความหมกมุ่นหรือการย้ำคิดย้ำทำที่เกี่ยวข้องกับ ORS
“CBT ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดความคิดที่ผิดปกติและความวิตกกังวลได้ ในขณะเดียวกันก็มีการแนะนำให้ใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า โดยมักจะใช้ร่วมกับ CBT” แมสซีกล่าว “ส่วนแนวทางอื่นคือ การรับมือความคิดแบบผิดๆ ของโรค ORS ในลักษณะเดียวกับวิธีที่เราใช้เพื่อรักษาอาการเชิงบวกของโรคจิตเภท ในการศึกษาเฉพาะกรณีแยกกันชี้ให้เห็นถึงประสิทธิผลของการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าและยาต้านอาการทางจิตร่วมกัน แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วยาต้านอาการทางจิตจะให้ผลในการรักษาที่น้อยกว่า”
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : Peggy und Marco Lachmann-Anke from Pixabay