เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่รัฐสภา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็น “การแก้ไขกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่มีความเชื่อมโยงกับความมั่นคงและกิจการชายแดนของประเทศ” จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้นำเสนอข้อกฎหมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ทั้งชาวเมียนมา กัมพูชา ลาว หรือเวียดนาม ซึ่งขณะนี้เลยระยะเวลาในการต่อใบอนุญาต ซึ่งสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ในส่วนประเทศกัมพูชาจบแล้ว เพราะมีการต่อใบอนุญาตโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงแรงงานพยามทำทุกอย่างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะจะได้มีการตรวจสอบง่ายขึ้น ขณะที่ประเทศเมียนมา มีการต่อระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือน จากที่รัฐบาลเมียนมาเปลี่ยน รมว.แรงงาน จึงมีความไม่ชัดเจนของกระบวนการต่อใบอนุญาต แต่ขอให้สบายใจได้สำหรับนายจ้างใครที่ลงทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้วถือว่ากระบวนการเสร็จสิ้น หากในระยะระยะเวลา 6 เดือน ยังไม่จบก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อขยายระยะเวลาต่อไป

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 อยู่ระหว่างรอบรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุม ครม. และมีอีกหลายอย่างที่กำลังหารือ โดยเฉพาะเรื่องประกันสังคม ที่มีการทำประชาพิจารณ์ เรื่องข้อยกเว้นอาชีพ เราจะนำมาตรา 33 มาใช้ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการบรรจุเข้าระเบียบวาระที่ประชุม ครม. เช่นกัน

“อาชีพต่างๆ ของต่างด้าว เช่น หาบเร่ แม่บ้าน เกษตรกร ที่เป็นข้อยกเว้นของประกันสังคมเราจะนำเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพื่อให้มีความสะดวกในสิทธิรักษาพยาบาลและการอยู่ในประเทศไทย เมื่อเกษียณอายุและต้องเดินทางกลับ ก็จะได้รับเงินบำนาญตามระเบียบหรือกฎหมายของประกันสังคม ตอนนี้กระทรวงแรงงานได้นำเรื่องเข้าสู่ ครม. เหลือเพียงรอการบรรจุ” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวว่า แรงงานไทยเรามีไม่เพียงพอ ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ อย่างผู้ที่ทำเกษตรกร หากเก็บผลผลิตไม่ทันเจ้าของสวนก็จะขาดทุน กระทรวงแรงงานเราทำทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรที่สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนอง ขอให้คณะ กมธ.ชุดนี้ มาหารือกับกระทรวงแรงงาน อะไรที่ กมธ. ต้องการเร่งด่วน และต้องการนำเสนอเข้า ครม. เราจะต้องคุยและเดินหน้าพร้อมกัน เพื่อผลประโยชน์ประเทศของเรา ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ขอเรียนว่าตรงนี้พวกเราอยู่ในประเทศไทย ผมอาจะมาจากอีกพรรคหนึ่ง แต่สุดท้ายพวกเรามาทำงานให้คนทั้งประเทศ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเร็วขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น วันนี้และในอนาคตผมมั่นใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่สภา เราคงจะได้มีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้น กระทรวงแรงงานในยุคที่ผมกำกับดูแล ขอแสดงเจตจำนงว่าอะไรที่เราสามารถทำได้เราพร้อมสนับสนุน” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นหัวขบวน จัดประชุมในวันที่ 12 มี.ค. นี้ เพื่อเร่งรัดหลายเรื่องให้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกันสังคม

ในช่วงหนึ่ง นายพิพัฒน์ กล่าวถึงการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไปหลายครั้ง ว่าทำไมถึงให้อำนาจรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ต้องเรียนให้ทราบว่าการทำประชาพิจารณ์ในยุคโควิด-19 มีการเขียนติ่งท้ายว่าถ้าเกิดเหตุสุดวิสัย ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ไม่สามารถมาเลือกตั้งได้ ก็ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา แต่ก่อนที่รัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาต้องผ่านบอร์ดตามมาตรา 8 และบอร์ดต้องอนุมัติมาตรา 9 ดังนั้น ตามหลัก ต้องเรียนว่ารัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะตั้งหรือเลือกใครเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ตนพยายามเร่งนำเข้า ครม. เพื่อปรับส่วนที่ติ่งท้าย หากเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ขั้นต่อไปก็สามารถแก้ไขในชั้น กมธ.ได้ เช่น กรณีที่รัฐมนตรีตั้งกรรมการสรรหาบอร์ดประกันสังคมให้เอาออกไป ยกเว้นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น ตนมั่นใจว่าท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติแต่ละท่านก็น่าจะทราบเรื่องนี้ดี.