นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยเห็นด้วยในหลักการลงนามหยุดตัดไม้ภายใน 2030 เนื่องจาก สอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กำกับดูแลงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ก็ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายยุทธศาตร์ มาอย่างต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้โดยปฏิญญากลาสโกว์ ของผู้นําด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำบทบาทความสําคัญของการจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยปฏิญญาดังกล่าวได้แสดงความมุ่งมั่น ของผู้นําที่จะดําเนินงานร่วมกันเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปี 2030 เปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน มีการเติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกันและครอบคลุม และสามารถหยุดยั้ง และย้อนกลับของการสูญเสียพื้นที่ป่าและความเสื่อมโทรมของที่ดิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของ ความตกลงปารีส เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และการกักเก็บ ตลอดจนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคงไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศได้

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง สาระสําคัญของปฏิญญา คือเน้นย้ำบทบาทความสําคัญและการพึ่งพาอาศัยระหว่างป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์และการกักเก็บ ตลอดจนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ, เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส (UNFCCC and the Paris Agreement) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อริเริ่มอื่น ที่เกี่ยวข้อง และเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์ ปกป้อง จัดการและฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศบนบกอื่นๆ อย่างยั่งยืน

“ที่สำคัญตระหนักว่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องอาศัยการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การเงินและการลงทุน การสนับสนุนผู้ค้ารายย่อย ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาป่าไม้ในการดํารงชีพและมีบทบาทสําคัญในการปกป้องดูแลผืนป่าเหล่านั้น แสดงถึงความก้าวหน้าในการดําเนินงานที่ผ่านมาและโอกาสในอนาคตแสดงความมุ่งมั่นที่จะทํางานร่วมกันเพื่อหยุดยั้งและฟื้นคืนการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรม ของที่ดินภายในปี 2573 เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างครอบคลุม” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กล่าว

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงขั้นตอนการเข้าร่วมปฏิญญาในส่วนของประเทศไทย จะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน จากนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะ ฝ่ายเลขานุการภายใต้อนุสัญญาจะประสานแจ้งต่อ สหราชอณาจักร ในการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ ในฐานะประเทศเจ้าภาพอย่างเป็นทางการต่อไป