เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่หน้าอาคาร SKYY9 Centre พระราม 9 น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าว “แฉเสียดฟ้า กองทุนประกันสังคมจงใจลงทุนผิดพลาด เพื่อเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องหรือไม่” กรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ที่มีข้อสงสัยถึงปัญหาธรรมาภิบาล โดย น.ส.รักชนก กล่าวว่า การลงทุนของคือหัวใจสำคัญของกองทุนประกันสังคมว่าจะอยู่รอดหรือไม่ แต่กรณีการซื้อตึกมูลค่า 3 พันล้านบาท ด้วยราคา 7 พันล้านบาท ในปี 2565-2566 ซึ่งเป็นตึกร้างสร้างยังไม่เสร็จตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่มีบริษัทแห่งหนึ่งซื้อตึกไปปรับปรุงซ่อมแซม เมื่อปรับปรุงเสร็จก็ประจวบเหมาะกับช่วงที่ สปส. ปรับแก้ระเบียบต่างๆ ทำการศึกษา และมีการตัดสินใจลงทุนพอดี
น.ส.รักชนก กล่าวต่อว่า ตึกแห่งนี้ในช่วงปลายปี 2565 มีอัตราการเข้าทำกำไรหรืออัตราการเช่าอยู่ที่ 1% ซึ่ง สปส. ได้เข้าซื้อ โดยมีการทำแผนงานที่สวยหรูเกินจริง อ้างถึงผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างเหมาะสม จะมีผู้เช่าภายใน 2 ปีแรก 60% แต่เมื่อเริ่มดำเนินการกลับมีผู้เช่าในปีแรกเพียง 1-2% เท่านั้น ปัจจุบัน สปส. รายงานมีคนเข้าใช้ตึกประมาณ 40% แต่เป็นตัวเลขที่น่าสงสัย น่าจะมีการรวมผู้เช่าที่คาดว่าจะเข้ามาใช้ในอนาคตด้วย และตัวเลขจริงอาจอยู่ที่ 20-30% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีค่าบริหารจัดการรวมกับค่าจ้างกองทุนในการบริหารอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ถ้าทำกิจการด้วยอัตรานี้ต่อไปเท่ากับจะติดลบทุกปี ดังนั้นเงิน 7 พันล้านบาทที่ สปส. ทุ่มลงทุนไปจะสูญเปล่า ต่อให้มีคนมาเช่าใช้ 100% ก็ต้องใช้เวลา 30 ปี กว่าจะคืนทุน กลับกัน หากทุกล้านบาทที่ สปส. ประหยัดได้และนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 5% ไปอีก 30 ปี จะงอกขึ้นมาเป็นเงิน 4.32 ล้านบาท นี่คือค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นของผู้ประกันตน

“กรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าสำนักงานประกันสังคมในยุคที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เอกสารทุกอย่างในการศึกษามีความพยายามตีความให้เข้าข้างว่าต้องซื้อ และยังมีคำถามอีกว่าทำไม สปส. ถึงตัดสินใจใช้เงิน 7 พันล้านบาท ในการลงทุนตึกแห่งเดียว แทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งอื่นๆ สปส. ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสินทรัพย์แบบนี้ แล้วทำไมถึงยังลงทุนในตึกแห่งนี้” น.ส.รักชนก กล่าวและว่า ขอให้ช่วยกันขุดว่าตึกนี้มีใครเป็นเจ้าของ เปลี่ยนมือมาเป็นใคร มีนักการเมืองพรรคไหนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะอดีต รมว.แรงงาน ก็อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ แล้วตึกนี้ปรับปรุงเสร็จเมื่อต้นปี 2565 หลังจากพร้อมใช้งานก็พร้อมขายต่อให้ สปส. เลย เป็นการตกแต่งหน้าตาของตึก โดยรู้อยู่แล้วว่า สปส. พร้อมจะซื้อเลยหรือไม่ นอกจากนี้ ตนยังได้ยินข่าวลือว่า สปส. พยายามย้ายสำนักงานบางส่วนเข้ามาใช้พื้นที่ในตึกนี้ เป็นการย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายมาเข้ากระเป๋าขวาหรือไม่ อาจอยากให้ตัวเลขการเช่าใช้ตึกสูงขึ้นหรือไม่

“การลงทุนซื้อตึก 7 พันล้าน ส่วนต่างของมูลค่าจริงกับเงินที่จ่ายไปคือ 4 พันล้าน ดิฉันอยากตั้งคำถามว่าใครได้กำไร ประกันสังคมไม่ได้กำไรแน่นอน แต่ดิฉันเชื่อว่ามีคนกำไรแล้ว นอกจากนี้ ในปีที่มีการลงทุนซื้อตึกนี้ ก็เป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งพอดี มีพรรคการเมืองใดมาหากินโดยเอาส่วนต่างของประกันสังคมไปเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งหรือไม่” น.ส.รักชนก กล่าว
ด้านนายสหัสวัต กล่าวว่า ปกติบอร์ด สปส. จะกำหนดกรอลการลงทุน 5 ปี ส่วนอนุกรรมการการลงทุน เป็นผู้พิจารณาแผนลงทุนรายปี โดยมีเลขาธิการ สปส. เป็นคนตัดสินใจอนุมัติ ซึ่งปี 2565 มีความพยายามให้ สปส. ลงทุนนอกตลาดหุ้นมากขึ้น ตนขอตั้งคำถามว่ามีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ต่างๆ หรือไม่ เพราะคนที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในส่วนนี้คือ รมว.แรงงาน ซึ่งในช่วงปี 2565 มีการแต่งตั้งโยกย้ายเด็กหน้าห้องของตัวเองมาอยู่ในกลุ่มงานบริหารความเสี่ยงและกำกับการลงทุน เพื่อทำแผนรายปีและตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร และอยู่ในอนุกรรมการฯ รวมถึงที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ในขณะนั้น ก็อยู่ในอนุกรรมการด้วย อย่างไรก็ตามการซื้ออสังหาฯ สปส. สามารถซื้อตรงได้ แต่การลงทุนซื้อตึกนี้กลับมีความซับซ้อน เพราะเป็นการตั้งกองทรัสต์มูลค่า 9.8 พันล้านบาท โดย 30% เป็นการลงทุนในต่างประเทศ แต่ 70% กลับทุ่มซื้อตึกนี้ที่เดียว และมีความพยายามปกปิดจนน่าสงสัย

“การลงทุนของ สปส. มีปัญหาและถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ อีกทั้งโครงสร้างของ สปส. ทุกวันนี้ก็มีปัญหาจริงๆ และต้องได้รับการปฏิรูป นายกรัฐมนตรีควรตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อตึกนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอำนาจในการอนุมัติคือเลขาฯ สปส. ซึ่งในขณะนั้นคือนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่เคยออกมาตอบคำถามใดๆ ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ รวมถึงอดีต รมว.แรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่” นายสหัสวัต กล่าวและว่า แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับ รมว.แรงงาน และเลขาธิการ สปส. คนปัจจุบัน แต่ รมว.แรงงาน ก็ควรตั้งกรรมการสอบสวนย้อนหลัง ซึ่งในการประชุมบอร์ด สปส. วันที่ 11 มี.ค. นอกจากเรื่องการพิจารณาปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญแล้ว ยังจะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง ขอให้ช่วยจับตา.