สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ว่า โคลอมเบียเป็นผู้ผลิตโคเคนรายใหญ่ของโลก และการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุมของแก๊งค้ายาเสพติด และกลุ่มกองโจรที่ใช้ความรุนแรง
ตามข้อมูลจากยูเอ็น โคลอมเบียปลูกใบโคคาและผลิตโคเคนสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 53% จาก 1,738 ตัน เป็น 2,600 ตัน โดยสหรัฐเป็นผู้บริโภคโคเคนรายใหญ่ที่สุด
น.ส.ลอรา ซาราเบีย รมว.การต่างประเทศโคลอมเบีย กล่าวถึงคณะกรรมาธิการยาเสพติด (ซีเอ็นดี) ของยูเอ็น ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ยืนกรานว่าใบโคคา “ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”
“การถอดใบโคคาออกจากรายชื่อสารเสพติดอันตรายของยูเอ็น ปี 2504 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับโคเคนและเฮโรอีน จะช่วยให้ใบโคคาสามารถนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย และเครื่องดื่ม” ซาราเบีย กล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับให้เหตุผลว่า การทำให้ใบโคคาถูกกฎหมาย เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งไม่ให้ผู้ค้ายาเสพติดผูกขาดพืชชนิดนี้ได้
นอกจากนี้ ซาราเบียยังระบุว่า เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ไปกับสิ่งที่เรียกว่า “สงครามยาเสพติด” ไม่ช่วยยับยั้งการบริโภค การผลิต และการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ จำนวนผู้ใช้โคเคนเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ กลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 ล้านคน ในช่วงเวลา 10 ปี.
เครดิตภาพ : AFP