เป็นที่ชัดเจน 100% นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ คือผู้ที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) คนที่ 22 แทนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ภายหลังศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองรับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอล

หลังจากนี้นายนิโรธ ต้องเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในฐานะมือประสาน 10 ทิศ คุมเสียงในสภา ลดแรงกระเพื่อมประคับประคองไม่ให้รัฐนาวาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสิ้นอายุขัยก่อนถึงเวลาอันควร

สำหรับประวัติประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ นายนิโรธ เกิดวันอาทิตย์ที่ 19 เม.ย.2496 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เส้นทางการเมืองระดับประเทศ เริ่มจากปี 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครสวรรค์ สังกัดพรรคชาติไทย จากนั้นปี 2548 ย้ายไปเป็น ส.ส สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ปี 2550 ย้ายกลับมาเป็น ส.ส.พรรคชาติไทย กระทั่งปี 2562 ได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 4 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ก่อนได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาล

การเข้ามารับไม้ต่อภารกิจประธานวิปรัฐบาลของนายนิโรธ ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐ และการประลองกำลังระหว่าง ส.ส.กลุ่มก๊วนต่างๆ

“จุดชี้เป็นชี้ตาย” คือการรักษาเสถียรภาพเสียงโหวตในสภาฯ ไม่ให้เกิดรายการแทงข้างหลัง พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนช่วงลงมติไม่ไว้วางในเดือน ก.ย.

หากมองในมุมคณิตศาสตร์ทางการเมือง ปัจจุบันสภาฯ เหลือ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ 476 คน ครึ่งหนึ่งคือ 238 คน ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.ทำหน้าที่ประมาณ 264 คน ฝ่ายค้านเหลือ ส.ส. ประมาณ 212 คน

นั่นหมายความว่าหากเกิดรายการ “คุณขอมา” กลุ่ม ส.ส.กบฏฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ขั้วตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ เปิดศึกเทคะแนนให้ฝ่ายค้านเพิ่มเพียง 30 เสียงจะส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ เสียหายถึงขั้นต้องอับปางทันที

(1) หากนายกฯ แพ้โหวตในการลงมติไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งคาดว่าฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอก ตั้งแต่ช่วงเปิดประชุมสภาฯ ปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-18 ก.ย. 2565 ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะต้องหลุดเก้าอี้ ตามเงื่อนไข รัฐธรรมนูญมาตรา 170 (3)

(2) หากรัฐบาลแพ้โหวตการลงมติกฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ที่มีกำหนดเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ ลงมติวาระที่ 1 ช่วงเดือน มิ.ย. ตามธรรมเนียมปฏิบัตินายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภาฯ แสดงความรับผิดชอบ

นาทีนี้ ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ มีภารกิจที่ต้องทำ 3 เรื่อง เพื่อช่วยประคองรัฐนาวา

(1) ภารกิจแรก ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ต้องปิดห้องคุย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ที่ช่วงหลังเล่นบทน้ำนิ่งไหลลึก ที่ไม่ค่อยพูดจา แต่มีกลยุทธ์การเมืองลึกซึ้ง ขอให้ผู้กองคุม ส.ส.ในซุ้มอย่าเพิ่งเปิดเกมป่วนในสภาฯ

ที่ต้องจับตาคือการส่งสัญญาณล่าสุดที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ แถลงใหญ่โตปล่อยข่าวเตรียมประชุมใหญ่วันที่ 7 พ.ย.เพื่อตั้ง “จุ๊บจิ๊บ”น.ส.ธนพร ศรีวิราช ภรรยาผู้กองธรรมนัส เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

แม้ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส และจุ๊บจิ๊บ ออกมายืนยันเป็นเฟคนิวส์ แต่ในทางการเมืองเป็นที่รู้กัน นี่คือการส่งสัญญาณความถี่สูงเรื่อง “พรรคสำรอง” สำหรับรองรับอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

(2) ภารกิจที่สอง ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ต้องเร่งเจรจาพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย อย่าเพิ่งเล่นเกมวอล์กเอาต์ไม่ร่วมสังฆกรรมโหวตร่างกฎหมายสำคัญ

สัญญาณอันตรายเริ่มมีให้เห็นวันที่ 3 พ.ย. ระหว่างพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา วาระที่สอง ในจังหวะที่ ส.ส.ซีกรัฐบาลหายหัว ฝ่ายค้านเดินเกมไม่ยอมกดบัตรแสดงตน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบงานนิติบัญญัติสะดุดเดินหน้าต่อไม่ได้

(3) ภารกิจที่สาม ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย กำชับวิปแต่ละพรรคระดม ส.ส.เข้าประชุมรวมกันห้ามต่ำกว่า 238 เสียง เพื่อป้องกันปัญหาสภาฯ ล่ม

ในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ ส.ส.ก๊กต่างๆ เริ่มประลองกำลังก่อนหมดวาระรัฐนาวา แรงกดดันมหาศาลไหลไปที่ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ซึ่งถือเป็น “จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ” ในการทำหน้าที่ระวังหลัง คุมเสียงในสภาฯ ค้ำบัลลังก์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา.