แจกแล้ว แจกอยู่ แจกต่อไป สำหรับรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ยังเดินหน้านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ให้พี่น้องชาวไทย เดิมทีเรียกชื่อเท่ๆว่า “โครงการเติมเงิน 10,000 บาทให้ประชาชน ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต” หวังส่งแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะทำแอปพลิเคชันใหม่ ใช้บล็อกเชน และระบบไฮเทคต่างๆนานาน
แต่ด้วยติดขัดอุปสรรคนานา ทำให้นโยบายล่าช้าตั้งแต่เริ่มต้น บวกกับเสียงทวงถามจากประชาชนกระหึ่มดัง กระตุ้นให้แกนนำรัฐบาลต้องพักเล่นใหญ่ แล้วหันไปใช้วิธีเบสิก โอนเงินสด 10,000 บาท ผ่านระบบพร้อมเพย์ผูกบัญชีธนาคารไปให้ผู้ได้รับสิทธิ์ แถมแบ่งแจกเงิน ซึ่งทำไปแล้ว 2 ครั้ง ครอบคลุมประชาชน ประมาณ 17.5 ล้านคน รวมใช้งบประมาณไปราว 185,000 ล้านบาท
โดยเฟส 1 สมัยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” แจกให้กลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ถือบัตรคนพิการ รวม 14.45 ล้านคน ตามด้วยเฟส 2 ในยุคนายกฯ คนปัจจุบัน “แพทองธาร ชินวัตร” แจกให้ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3.02 ล้านคน แต่การแจกอัดฉีดเงินทั้ง 2 เฟส ถูกวิจารณ์ว่ายังไร้วี่แววพายุหมุนทางเศรษฐกิจก่อตัว
ล่าสุด “นายกฯ Gen Y” ควงทีมขุนคลังประกาศแจกเงินหมื่น เฟส 3 ให้ชาวไทยวัย Gen Z อายุตั้งแต่ 16-20 ปี ที่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 2.7 ล้านคน วงเงิน 27,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ในกลางเดือน มิ.ย.-ก.ค.2568 แต่เฟสนี้ไม่แจกเงินสด แต่เป็นการให้รับเงินและใช้เงินทำด้วยระบบ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และใช้จ่ายได้เฉพาะอำเภอตามบัตรประชาชนเท่านั้น กลับสู่คอนเซ็ปต์เดิมของนโยบายเรือธงดังกล่าว
และการให้เหตุผลที่เลือกแจกให้กลุ่มนี้ก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่ตื่นรู้ทางเทคโนโลยีสูง จึงน่าคิดว่ารัฐบาลมุ่งใช้โอกาสนี้ทดสอบระบบ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ยกแรกว่าผลการใช้งานจริงเป็นอย่างไร ก่อนจะนำไปสู่การเปิดใช้กับกลุ่มคนที่เหลือก้อนใหญ่ในอนาคต เพราะเห็นได้จากบทเรียนเมื่อครั้งเปิดให้ประชาชนแห่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ไม่นาน ก็เกิดปัญหาระบบล่มเสียแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็เสียงสะท้อนความไม่เชื่อมั่นจากหลายฝ่าย อย่างเช่น “วีรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ มองว่า รัฐบาลประกาศแจกเงินหมื่น 3 ครั้ง พายุหมุนเศรษฐกิจเทกระจาด ตลาดหุ้นหล่นหนักต่อเนื่อ
ขณะที่นักวิเคราะห์การลงทุนเห็นว่ายังไม่เห็นภาพว่าคน Gen Z จะเอาเงินไปใช้จ่ายในส่วนใดที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
ด้าน “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ชี้ว่า รัฐบาลใช้โครงการนี้มากระตุ้นความนิยมของตัวเอง ปลอบประโลมประชาชน และจีดีพีของประเทศตกเป้า การบริโภคของภาคเอกชนยังไม่กระเตื้อง
นอกจากนี้ยังมีเสียงร้องระงมมาตลอดจากคนวัยทำงาน กลุ่มใหญ่ อายุ 21-59 ปี ที่ถือได้ว่าเป็นเดอะแบก มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ส่งรัฐ กลับได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลน้อยเหลือเกิน ขณะที่บรรดารัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจปัดตอบสื่อถึงการตั้งเป้าตัวเลขและการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว
รัฐบาลอย่าคิดว่าคน Gen Z จะถูกหลอกง่ายๆ เหมือนคน Gen Y และระวังปัญหาปากท้องของประชาชนทุกช่วงวัยอาจกลายเป็นพายุมรสุมหวนถล่มบัลลังก์ตึกไทยคู่ฟ้า.