สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ว่านายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า แผนงานดังกล่าวซึ่งมีขึ้นตรงกับวาระครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนาองค์กร “มีความจำเป็นต้องเกิดขึ้น” เนื่องจากทรัพยากรต่าง ๆ กำลัง “ลดลงอย่างต่อเนื่อง”

“ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติต้องเผชิญกับวิกฤติสภาพคล่อง เนื่องจากประเทศสมาชิกบางส่วนไม่ได้จ่ายเงินครบถ้วน และหลายประเทศก็จ่ายไม่ตรงเวลา” กูเตร์เรสกล่าว โดยอ้างถึง สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุด และมีโควตาการบริจาคที่คิดเป็น 22% ของงบประมาณ แต่เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีการยืนยันว่า รัฐบาลวอชิงตันมีเงินค้างชำระสะสม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50,682 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ในปี 2567 จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาคสนับสนุนยูเอ็น รายใหญ่เป็นอันดับสอง ด้วยสัดส่วน 20% เพิ่งชำระเงิน เมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

มากไปกว่านั้น การที่สหรัฐใช้นโยบายตัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในต่างประเทศเกือบทั้งหมด ก็จะส่งผลกระทบต่อโครงการ และหน่วยงานของยูเอ็นเช่นกัน อีกทั้งมีความกังวลด้วยว่า ทรัมป์จะลดงบประมาณสนับสนุนยูเอ็น เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติในวาระแรกของเขา

กูเตร์เรสย้ำว่า โครงการ “ยูเอ็น 80” ไม่ใช่การตอบสนองต่อแรงกดดันใหม่ของสหรัฐ หรือต่อสำนักงานประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ ดอจ ซึ่งมีมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์เป็นผู้นำ แต่เป็นการสานต่อ และเพิ่มความเข้มข้นของภารกิจที่กำลังดำเนินอยู่

คณะทำงานภายในชุดพิเศษ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา จะมีหน้าที่ในการหาวิธีประหยัดเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพในหลายด้าน โดยจะดำเนินการตรวจสอบ การปฏิบัติตามคำสั่งทั้งหมดอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อค้นหางานที่ซ้ำซ้อนหรือสูญเปล่า.

เครดิตภาพ : AFP