เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 13 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ที่รัฐบาลเลือกสื่อที่จะพาไปดูความเป็นอยู่ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ที่ถูกส่งตัวกลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ที่จริงเรื่องนี้เป็นจังหวะที่รัฐบาลสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ หลังจากที่ผ่านมา สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน และรอบนี้รัฐบาลเองพยายามยืนยันถึงความโปร่งใสในการให้สื่อมวลชนไปทำข่าว แต่พอมากลายเป็นว่า การผ่านสื่อมวลชนไปไม่ได้ทั่วถึง ต้องถามกลับไปที่รัฐบาลว่า 

“รัฐบาลเองกำลังจะใช้สื่อมวลชนเป็นพีอาร์ของรัฐบาลหรือไม่ เพราะถ้าหากคำนึงถึงการทำงานของสื่อมวลชนจริง ๆ ควรจะเปิดกว้างให้ทุกสื่อที่แสดงความจำนงสามารถเข้าไปได้ ไม่ใช่คัดเลือกไปเฉพาะบางสื่อ” น.ส.ภคมน กล่าว

น.ส.ภคมน กล่าวต่อว่า ซึ่งตนไม่ได้มีปัญหากับสื่อมวลชนที่เดินทางไปพบชาวอุยกูร์ เพียงแต่ว่า มีสื่อมวลชนที่ทำข่าวเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าไป จึงต้องถามรัฐบาลว่า จุดประสงค์ที่ขนสื่อมวลชนไปครั้งนี้ ต้องการแค่ข่าวพีอาร์ให้กับรัฐบาลหรือต้องการที่แสดงความชอบธรรมยืนยันต่อสาธารณะ ส่วนคำพูดของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่บอกว่าสื่อฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ตนคิดว่าอย่าพยายามที่จะโยนไพ่ออกมาให้สื่อต้องผิดใจกันเอง เรื่องนี้จบได้ถ้าสามารถยืนยันได้ว่า จุดประสงค์ในการขนสื่อไปครั้งนี้ เพื่อจะพีอาร์รัฐบาลหรือต้องการให้สื่อมวลชนได้ทำข่าวตามข้อเท็จจริง ที่จริงแล้วนายภูมิธรรม ไม่ต้องโยนให้กลับมาแบบนี้ ให้สื่อมวลชนได้พิจารณาเอง สื่อทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานอยู่แล้ว

เมื่อถามอีกว่าเหมือนจะมีบางสื่อที่ถูกถามถึงทัศนคติเรื่องชาวอุยกูร์ ก่อนที่จะได้รับเลือกให้ไปนั้น มองอย่างไร น.ส.ภคมน กล่าวว่า จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับรัฐบาลที่พยายามยืนยันตัวเองมาโดยตลอดว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย การตั้งกฎเกณฑ์แบบนี้ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลเผด็จการ ที่ต้องขอดูทัศนคติก่อนว่า คนที่ไปด้วยสามารถควบคุมได้หรือไม่ 

“บ่งบอกชัดเจนว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่มีนายภูมิธรรม ดำเนินการเรื่องนี้ อันนี้คือการดูถูกสื่อมวลชน ลดทอนประชาธิปไตยและลดทอนการทำงานของสื่อมวลชน” น.ส.ภคมน กล่าว

น.ส.ภคมน กล่าวอีกว่า ต้องตั้งคำถามกลับไป และทบทวนจริง ๆ ว่าตอนนี้รัฐบาลวางสถานะของสื่อในประเทศไทยเป็นแบบไหน เป็นพีอาร์ของรัฐบาลหรือต้องการให้อิสระในการทำงาน และมีช่องว่างระหว่างรัฐกับสื่อมวลชนจริง ๆ นี่คือจุดที่เห็นได้ชัดที่สุดว่ารัฐบาลไม่ได้มองเห็นความสำคัญของการทำงานของสื่อมวลชน พยายามที่จะทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นพีอาร์ของรัฐบาล