เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึง ประเด็นกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดีย จากกรณีมีคนกลุ่มหนึ่งเปิดห้องในคลับเฮาส์ วิจารณ์เหยียดหยามคนอีสานจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยว่า ประเด็นในเชิงจิตวิทยาสังคม ความแตกต่างของเพศ ผิวพรรณ ความคิดทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่การแสดงความรังเกียจความแตกต่าง เป็นเรื่องที่ผิดปกติ ซึ่งสังคมไม่ควรยอมรับ ทั้งนี้ ในเชิงลึกแล้ว ผู้ที่แสดงความรังเกียจแสดงความรุนแรง แสดงความไม่ชอบคนอื่น มาจากสภาวะจิตที่มีปัญหา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุไม่จำเป็นต้องเกิดจากการที่เคยถูกกระทำมาก่อนในอดีต แต่โดยรวมเป็นภาวะจิตใจที่ไม่มีคุณภาพ อาจเกิดจากความเก็บกด ความว้าวุ่นใจ ความคับข้องใจเรื่องต่างๆ ฉะนั้น เราควรยอมรับ เผยแพร่ความคิดความอ่านที่มีประโยชน์ มีคุณค่า หากเรายอมรับความคิดที่ไม่มีคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตัวเอง

“ความแตกต่างเป็นความปกติ คนเรามีธรรมชาติหลากหลาย ดังนั้น การเปิดใจกว้างเป็นเรื่องดี ตรงข้ามกันคือ การแสดงความรังเกียจเป็นเรื่องผิดปกติ ดังนั้น เราต้องฉุกคิดก่อนจะเผยแพร่ประเด็นเหล่านี้ให้กว้างขวาง หรือเป็นประเด็นทางสังคม” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การสอนให้รู้จักยอมรับความแตกต่าง สามารถสอนได้ตั้งแต่อนุบาล เพื่อให้เข้าใจความแตกต่าง เปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นต่าง ๆ โดยพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี หากครอบครัวเปิดกว้าง ไม่แสดงความรังเกียจ ใช้ความรุนแรงด้วยคำพูด (Hate Speech) กับสิ่งที่เราคิดต่าง ก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเปิดกว้าง มีวุฒิภาวะก้าวไปช้างหน้าได้ดีกว่า หากเราสร้างสังคมที่มีความเห็นทางการเมือง เรื่องเพศสภาพ เรื่องสถาบัน แบบเอาเป็นเอาตายกับอีกฝ่ายหนึ่ง สังคมจะก้าวไปข้างหน้ายาก ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีที่ผ่านเรื่องเหล่านี้มาเยอะจนเข็ด จนมีกฎหมายว่าความเห็นต่างไม่ผิด แต่การแสดงความรังเกียจต่อความเห็นต่างเป็นความผิด เป็นกติกาสังคม ดังนั้น สังคมไทยก็ควรจะเข็ดในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าหากมีคนที่มีความคิดรังเกียจคนอื่นสะสมอยู่มาก จะเกิดเป็นความรุนแรงของสังคมหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก็จะเป็นบรรทัดฐานความรุนแรงของสังคม ที่จะแสดงออกกมาเป็นความคิดก่อน ต่อมาจะเป็นวาจา และกลายเป็นทางกายภาพ ไต่ระดับความรุนแรงได้ง่าย สังคมจะเดินหน้าลำบาก ซึ่งกระทบหลายอย่าง ปัจจุบันไม่ใช่เพียงเรื่องของภูมิภาคต่าง ๆ ที่ผ่านมีทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องอื่นๆ ซึ่งบรรยากาศการสื่อสารของคนไทยมีแบบนี้เยอะ ทำให้สังคมสะพัด ก้าวไปข้างหน้าลำบาก

เมื่อถามว่ากรณีที่คนกลุ่มดังกล่าวใช้รูปภาพคนอื่นในการออกมาแสดงความรุนแรงในสังคม โดยไม่รู้สึกเกรงใจ และตรงกันข้ามคือท้าทายสังคม ถือเป็นความผิดปกติทางจิตหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นี่เป็นความขัดแย้งในตัวของเขาเอง จริง ๆ ถ้าคนเหล่านี้มาแสดงออกแบบเปิดเผย อาจไม่รุนแรง แต่การแสดงออกทางสังคมที่ไม่ต้องปรากฏตัวชัดเจนทำให้ความยับยั้งชั่งใจ หรือควบคุมตัวเองได้น้อยลงจะกล้าแสดงออกในสิ่งผิด ๆ มากขึ้น เราต้องช่วยกันสอนกันตั้งแต่เล็ก ๆ ว่า การแสดงออกในออนไลน์ มันก็คือตัวตนของเราเช่นกัน ดังนั้น ต้องควบคุมตัวเองด้วย

เมื่อถามว่าเราต้องสื่อสารเยียวยาจิตใจคนที่ถูกรังเกียจในประเด็นนี้อย่างไรบ้าง นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เรารู้อยู่แล้วว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้น เราได้แต่เห็นใจเขา เตือนเขาด้วยความสุภาพว่า เป็นไปไม่ได้ที่คนภาคหนึ่งจะดีหมด แล้วคนภาคหนึ่งจะเลวหมด เพราะความดีความเลวเกิดจากบรรทัดฐานการเลี้ยงดู การเติบโต ซึ่งปะปนกันทุกสังคม

“เราไม่ต้องเดือดร้อน แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องรณรงค์ให้เข้าใจว่าการทำแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ต่อใคร แล้วก็ออกมาจากจิตใจที่คุณภาพไม่ดี ฉะนั้น สังคมอย่าไปส่งเสริมให้เราเห็นใจคนที่ทำ เพราะเรื่องนี้มันไม่จริงอยู่แล้ว” นพ.ยงยุทธ กล่าว.