ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รวบรวมมาตรการช่วยเหลือชาวนา ในฤดูกาลผลิตปี 64/65 ของรัฐบาล มีดังนี้ โครงการการประกันรายได้ให้กับชาวนาที่ปลูกข้าว 5 ชนิดในราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้าไม่เกิน 50 ไร่ โดยมีราคาประกันรายได้และการชดเชยคือ 1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาทต่อตัน จำนวนครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 3.ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนไม่เกิน 25 ตัน 5.ข้าวเปลือกเหนียวราคาประกันรายได้ไม่เกิน 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

นอกจากนี้ มีโครงการค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 อัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ขณะเดียวกันมีมาตรการคู่ขนานสำหรับพยุงราคาข้าวเปลือก มีเป้าหมายชะลอการขายข้าว 10.5 ล้านตัน ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 ให้เกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง โดยได้รับค่าฝากเก็บ ตันละ 1,500 บาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยสถาบันเกษตรกรได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้รับตันละ 500 บาท โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก ในการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3%  

อีกทั้งยังมีโครงการเสริมของกรมการค้าภายใน เปิดจุดรับซื้อข้าวเหนียวในพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด โครงการตลาดนัดข้าวเปลือกใน 19 จังหวัด ในพื้นที่ที่มีโรงสีไม่เพียงพอ ส่วนการพักหนี้เป็นโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่เปิดให้พักหนี้ตามความสมัครใจ สำหรับช่วยเหลือลูกค้ารับผลกระทบโควิด สมัครได้ถึง 15 ธ.ค.64 โดยได้รับพักชำระหนี้ต้นเงิน 1 ปีตั้งแต่งวด ก.ค. 64- มี.ค.65 และพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดเป็นระยะเวลา 2 เดือน นับจากงวดชำระเดิมตั้งแต่งวดเดือน ก.ค.-ธ.ค. 64