เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีสภายุโรป เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรป กดดันให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กดดันให้ไทย ยุติส่งชาวอุยกูรณ์กลับประเทศ ว่า ไม่เฉพาะเวที FTA อย่างเดียว แต่อีกเวทีที่รัฐบาลพยายามผลักดันจะเข้าร่วม อย่างองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งทั้ง FTA และ OECD ก็มีกรอบมาตรฐานว่า การจะทำการค้าขายกับประเทศใดได้ ไทยจะต้องมีหลักปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ไทยก็ถูกประณามจากหลายประเทศ รวมถึงกฎหมายที่ยังมีปัญหาในประเทศอยู่ เชื่อว่าสิ่งที่มีการแสดงออก ได้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายของไทยบางเรื่อง และการปฏิบัติของรัฐบาลไทยในหลายกรณี ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อถามว่า ในฐานะฝ่ายค้านจะเสนอแนะอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีการระบุถึงกฎหมาย ม.112 ยังมีปัญหาอยู่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ว่า กฎหมายใดที่มีปัญหา ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ แต่กระบวนการที่จะแก้ไขอย่างไร ก็เป็นกระบวนการที่จะต้องปรับปรุงในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากถามตนเองในวันนี้ ส่วนตัวและพรรคประชาชนเห็นด้วยอยู่แล้ว ว่า กฎหมาย ม.112 ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งอียูก็ออกมาแสดงท่าทีความเป็นห่วงว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

เมื่อถามต่อว่า รัฐบาลอาจอ้างได้ว่า ต้องบาลานซ์ระหว่างทั้ง 2 ฝั่งนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก สงครามทางการค้า คิดว่าไทยจำเป็นต้องยึดหลักเอาไว้ เพราะตราบใดที่เลือกจะดำเนินนโยบายต่างประเทศ การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะจีน หรือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าของไทยทั้งคู่ ก็จะหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายหนึ่ง แต่หากดำเนินนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใด ของประเทศโดยมีหลัก เช่น การยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้นการดำเนินการใดแล้วอาจขัดกับผลประโยชน์ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะไม่สามารถว่าไทยได้ เนื่องจากไทยยึดหลักที่สากลให้การยอมรับ.