เมื่อวันที่ 14 มี.ค. น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ม.ค. 2567 ระบุว่า ผู้ร้องคือผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับบริการศัลยกรรมตกแต่งยกคิ้วกับ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. แต่โรงพยาบาลมีนโยบายคิดค่าผ่าตัดให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าผู้ไม่ติดเชื้อเป็น 2 เท่า รวมผู้ร้องต้องจ่ายค่าผ่าตัดยกคิ้วในราคา 160,000 บาท ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อฯ จ่าย  80,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า การผ่าตัดให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าปกติ เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อที่ราคาสูงกว่ากรณีทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ร้องเห็นว่า ผู้เสียหายมีผลตรวจสุขภาพพบค่าปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือด 1 มิลลิลิตร ต่ำกว่า 20 ในทางการแพทย์ถือว่าควบคุมไวรัสได้ และมีค่าเม็ดเลือดขาว (CD4) ในระดับที่มีความปลอดภัย อันเป็นไปตามหลักการ U=U (Undetectable = Untransmittable หรือไม่เจอ=ไม่แพร่) ซึ่งผู้ติดเชื้อฯ ได้กินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง จนไม่สามารถตรวจหาเชื้อฯ ในเลือดได้หรือมีปริมาณเชื้อในเลือดน้อยหรือเท่ากับศูนย์ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ผู้ร้องเห็นว่า รพ.มีการเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จัดโดยภาคเอกชนได้อย่างเท่าเทียม ผู้ติดเชื้อฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ให้การรับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ ขณะที่การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมีหลักการป้องกันแบบครอบจักรวาล (Universal Precautions : UP) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนผู้ใช้บริการ บนฐานคิดที่ว่าผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับและส่งต่อเชื้อโรคเท่าเทียมกันไม่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อเอชไอวีเท่านั้น การปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ แต่จำเป็นต้องใช้งบฯ เพิ่มขึ้น ในทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยากที่จะควบคุมให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ในส่วนของการเรียกเก็บค่าบริการกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าเป็นสองเท่า ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. เห็นว่า หากปฏิบัติตามหลักการ UP จะไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม การคิดค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางประการ เช่น ค่าความชำนาญของแพทย์ อาจมีความแตกต่างกันได้ในแต่ละโรงพยาบาล ทั้งนี้ โรงพยาบาลควรแสดงรายละเอียดค่าบริการให้ผู้เสียหายใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ

กสม. เห็นว่า การที่โรงพยาบาลผู้ถูกร้องกำหนดค่าบริการตกแต่งศัลยกรรมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่าคนทั่วไปเป็นสองเท่าเนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าปกติ ทั้งที่หลักการ UP กำหนดว่าทุกโรคไม่เฉพาะเอชไอวี ก็มีความเสี่ยงเท่ากัน ต้องระวัง ป้องกันเท่ากัน ดังนั้นการกระทำดังกล่าวที่ส่งผลให้ผู้ร้องไม่สามารถรับบริการได้โดยเท่าเทียม ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า ถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยด้วยเหตุแห่งสุขภาพ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ประชุม กสม. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยัง รพ.ที่ถูกร้องให้ยกเลิกการกำหนดค่าบริการที่แตกต่างกันระหว่างผู้ติดเชื้อฯ กับผู้ไม่ติดเชื้อฯ เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยใช้เหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นเหตุผลในการกำหนดนโยบายราคา และเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือเวียนถึงสถานพยาบาลเอกชน ไม่ให้เลือกปฏิบัติเก็บเงินเพิ่มจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี สร้างความตระหนักรู้หลักการ UP และเปิดเผยรายละเอียดค่าบริการสุขภาพ  

นอกจากนี้ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมพิจารณาทบทวนต้นทุนและงบประมาณที่จำเป็นเพื่อทำให้หลักการ UP เป็นบริการมาตรฐานการให้บริการสำหรับทุกโรคและปฏิบัติได้จริง และให้กระทรวงพาณิชย์เร่งกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ใน รพ.เอกชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542