เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) กลับมา เป็นประเด็นอีกครั้ง หลังวันที่ 17 มี.ค. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัย ปัญหา เกี่ยวกับหน้าที่ และ อำนาจรัฐสภา ตาม รธน.มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2 ) ในประเด็นทำประชามติ ก่อนการแก้ รธน. โดยก่อนหน้านั้น ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง รธน. แก้ไขหมวด 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ โดยสภาร่าง รธน. (ส.ส.ร.) โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 13-14 ก.พ. 68 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีมติเอกฉันท์ ไม่ร่วมพิจารณาเรื่องการแก้ไข รธน. เนื่องจากเห็นว่าการบรรจุวาระเข้ามา ยังมีความขัดแย้งคำวินิจฉัยศาล รธน. ปี 64 ที่ระบุว่า ต้องมีถามประชามติจากประชาชนก่อน

ด้าน “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ที่จะเสนอญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตาม รธน.มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในประเด็นทำประชามติก่อนการแก้ รธน.จะผ่านฉลุยหรือไม่ ว่า เราจะไป ตัดสินใจแทนคนอื่น ไม่ได้ แต่เราก็หวังว่ามันจะฉลุย หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อถามว่า หากมีการเสนอญัตติให้ศาล รธน.วินิจฉัยจะส่ง ญัตติของใครเป็นหลัก นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ใช้ของตนเป็นหลัก ครั้งนี้มีความมั่นใจว่าจะทำสำเร็จถึงยื่นเข้าไป แต่เราจะว่า 100% ไม่ได้ เพราะเราบังคับใจใครไม่ได้ วันนั้นกับวันนี้มันต่างกัน น้ำใสเปลี่ยนใจปลา กาลเวลาเปลี่ยนใจคน
ส่วนท่าที “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ให้ความเห็นกรณีพรรค พท.จะยื่นญัตติขอให้ ศาล รธน.วินิจฉัย การแก้ไข รธน.ในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 17 มี.ค. ว่า พรรค ภท.ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ถูกต้อง เราก็สนับสนุนอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากมีการบรรจุวาระและเลื่อนการพิจารณาขึ้นมา พรรค ภท.ก็ร่วมโหวต ซึ่งตรงนี้คุยกันแล้ว เราไม่ได้เป็นคนขวาง เดี๋ยวจะหาว่าเป็นภูมิใจไทยขวางอะไรอีก เรากลัว คนอื่น เขาไม่เคยโดน พวกเราโดนกันมาแล้ว
ด้าน “นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่า พรรคเห็นชอบกับการส่งให้ศาล รธน.ตีความขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไข รธน. เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย เกิดความกระจ่างชัดเจน และไม่เป็นประเด็นปัญหาในภายหลังที่อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติได้

“การแก้ไข รธน.ป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ มากถึง 4,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้เกิด ความชัดเจนและรอบคอบ พรรค รทสช. จึงเห็นควรว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะส่งให้ศาล รธน.วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้เกิดความกระจ่างแจ้งอีกครั้ง” นายอัครเดช ระบุ
ดังนั้นเชื่อว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีมติเห็นชอบขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจรัฐสภา ตาม รธน.มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในประเด็นทำประชามติ ก่อนการแก้ รธน. เพื่อความชัดเจนในการยื่นร่างแก้ไข รธน. ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่
ส่วนความชัดเจนถึงจำนวนวันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น “นายรังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ใน ฐานะคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงการเจรจากรอบเวลาการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า เชื่อว่าในวันที่ 19 มี.ค.ที่จะมีการนัด ประชุมร่วมกับรัฐบาล อีกครั้งนั้น จะสามารถหาข้อสรุปได้ ในส่วนนี้ที่ชัดเจน ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน

“เวทีนี้เป็นเวทีของฝ่ายค้าน เราอยากได้เวลา ในการอภิปรายเต็มที่ และเราก็อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ในการตอบข้อชี้แจงต่างๆ ในประเด็นที่ ฝ่ายค้านกล่าวหา ที่มากเพียงพอ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาลเอง หากรัฐบาลเชื่อว่า ตัวเองมีผลงานเยอะ โดยเฉพาะนายกฯ คิดว่าก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรกับเรื่องนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวว่าเวลาในการอภิปรายมันจะเยอะเกินไป หากนายกฯ เป็นคนที่ทำงานได้ดี ก็สามารถที่จะชี้แจงในสภาได้อยู่แล้ว” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามว่า เบื้องต้นยังยืนยันว่าฝ่ายค้านจะขอเวลา 30 ชั่วโมงใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรายืนยันเหมือนเดิม หรือว่ารัฐบาล ไม่มีผลงานเพียงพอ ที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้มาก จึงไม่ต้องการเวลาเยอะเพื่อจะตอบชี้แจงใช่หรือไม่ เมื่อถามถึง กรณีที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล เสนอสูตร 23+7 คือฝ่ายค้าน 23 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาล 7 ชั่วโมง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตกลงนี่คือเวทีของใคร เป็นการเสนอญัตติ โดยนายวิสุทธิ์หรือพรรค พท. หรือเป็นการเสนอญัตติโดยฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านรู้ดีที่สุดว่าเราต้องการเวลาเท่าไร เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากอยากเห็นนายกฯ แสดงข้อมูลหักล้าง ในข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านเตรียมไว้ ยืนยันฝ่ายค้าน ต้องมีเวลาที่เพียงพอ และคนที่จะตอบได้ว่าเพียงพอหรือไม่นั้น ไม่ใช่นายวิสุทธิ์ที่ทำหน้าที่เป็นประธานวิปรัฐบาล เมื่อถามถึง ความคืบหน้าเรื่อง การแก้ไขคำในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า “ขอให้อดใจรออีกนิด เดี๋ยวคงจะมีการเปิดเผยได้ในไม่ช้า”

ดูท่าทีของพรรคฝ่ายค้านยืนยัน ต้องได้เวลา อภิปราย 30 ชั่วโมง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเวทีของพรรคฝ่ายค้าน เพราะเป็นผู้เสนอญัตติ ฝ่ายค้านรู้ดีว่า ต้องการเวลาเท่าไหร่ และเชื่อว่า ประชาชนอยากเห็นนายกฯ แสดงข้อมูล เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน
ขณะที่ท่าทีของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล “นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ พรรค พท.จะประชุมเพื่อหารือถึง กรอบเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่ชัดเจนว่า ควรใช้เวลาเท่าใด ส่วนการให้เวลาฝ่ายค้าน 23 ชั่วโมง และ ฝ่ายรัฐบาล 7 ชั่วโมง ในการอภิปรายนั้น ต้องรอดูว่า ที่ประชุมพรรค พท. จะเห็นว่าอย่างไร แต่ถ้าจะให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายถึง 30 ชั่วโมง ใช้เวลา 3 วัน และลงมติอีก 1 วัน เป็นเวลาที่มากเกินไป จะพูดอะไรฝ่ายเดียว 30 ชั่วโมง แค่อภิปรายนายกฯ คนเดียว จากกรอบเวลา 30 ชั่วโมง เต็มที่คงให้ฝ่ายค้าน ได้แค่ 23 ชั่วโมง เท่านั้น เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยอมตัดชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า เปลี่ยนไปใช้คำว่าอะไร เมื่อเปลี่ยนคำแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา จะอนุญาตหรือไม่

เมื่อถามต่อว่า หากฝ่ายค้าน ถอดชื่อนายทักษิณ ออกจากญัตติ เปลี่ยนไปใช้คำอื่น เช่น พ่อนายกฯ หรือคำอื่นๆ ยืนยันหรือไม่ว่าพรรคพท. จะไม่ประท้วงตอนอภิปราย นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเรายิ่งประท้วงก็ยิ่ง เสียเวลาอภิปราย ของฝ่ายรัฐบาลที่มีอยู่น้อยอยู่แล้ว จะพยายามหลีกเลี่ยงการประท้วงให้มากที่สุด การจะประท้วงต้องดูว่า คำพูดนั้น สร้างความเสียหาย ให้คนนอกหรือไม่ เพราะบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงไม่สามารถมาชี้แจงได้ในสภา ถ้าเข้ามาตอบได้ คงไม่เป็นอะไร หากกล่าวถึงคนนอกจนเกินเลย สร้างความเสียหาย และประธานไม่ทักท้วง เราก็ต้องทักท้วงบ้าง เพราะเขาไม่สามารถมาชี้แจงได้ ส่วนตัวแม้อยากให้ ประท้วงน้อยที่สุด แต่คงไปห้ามปากสส.คนอื่นไม่ให้ประท้วงไม่ได้
คงต้องรอบทสรุปในการหารือ ระหว่าง วิป 3 ฝ่าย คือ พรรคร่วมรัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะจบลงด้วยข้อตกลงอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าภาพที่สังคมภายนอกอยากเห็น คือรัฐบาล เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้าน ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ถ้าเชื่อว่าการทำงานของฝ่ายบริหารมีผลงาน ไม่มีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งในที่สุดประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่า ข้อมูลใครมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน
“ทีมข่าวการเมือง”